กงสุล

          คำว่า กงสุล มาจากภาษาฝรั่งเศส ว่า consul พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า เป็นชื่อตําแหน่งของบุคคลซึ่งรัฐบาลของประเทศหนึ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจําอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของอีกประเทศหนึ่ง เพื่อทําหน้าที่ช่วยเหลือคนชาติของประเทศผู้แต่งตั้งกงสุลที่ไปอยู่ในเมืองต่างประเทศนั้น ๆ และเพื่อดูแลผลประโยชน์ทั่วไปของประเทศผู้แต่งตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพาณิชย์ กงสุลมี ๒ ประเภท คือ (๑) กงสุลโดยอาชีพ ได้แก่ ผู้ที่เป็นข้าราชการของประเทศผู้แต่งตั้ง และ (๒) กงสุลกิตติมศักดิ์ได้แก่ ผู้ได้รับแต่งตั้งซึ่งมิใช่ข้าราชการและไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งอาจเป็นคนชาติของประเทศผู้แต่งตั้ง หรือคนชาติอื่นก็ได้ กงสุลที่มีตําแหน่งเป็นหัวหน้าสถานกงสุลมี ๔ ระดับ คือ กงสุลใหญ่ กงสุลรอง กงสุล และตัวแทนฝ่ายกงสุล

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๑ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ กงสุล ว่า ประเทศไทยเริ่มมีสัมพันธไมตรีทางการค้ากับประเทศตะวันตกมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยทำสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้ากับโปรตุเกสเป็นชาติแรก แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งกงสุลจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์  ชาวโปรตุเกส ชื่อ การ์โลส มานูเอล ดา ซิลเวย์รา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสโปรดให้อุปราชแห่งอินเดียที่เมืองกัวแต่งตั้งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานกงสุลและพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ การ์โลส มานูเอล ดา ซิลเวย์รา เป็นหลวงอภัยพานิช ทำหน้าที่กงสุลใหญ่ ซึ่งถือเป็นกงสุลต่างประเทศคนแรกในประเทศไทย  ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เด เกรออง เป็นพระสยามธุรานุรักษ์ กงสุลไทยประจำอยู่ที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีการแต่งตั้งทูตไทยไปประจำในต่างประเทศครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๒๔.

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์