กรมธรรมการ

          หน่วยงานในสมัยก่อนของไทยอีกหน่วยงานหนึ่งคือ กรมธรรมการ เป็นกรมเก่าตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยอยุธยา มีออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เป็นเจ้ากรม อยู่ในบังคับบัญชาของกรมวัง  กรมธรรมการมีหน้าที่ดูแลศาสนสมบัติในพระพุทธศาสนา ดูแลความประพฤติของพระสงฆ์ และการปกครองคณะสงฆ์ในส่วนที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายพุทธจักร และด้วยหน้าที่เกี่ยวกับพระสงฆ์นี้ทำให้ในเวลาต่อมาเรียกชื่อว่า กรมธรรมการสังฆการี

          ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รวมงานของกรมธรรมการสังฆการี กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล กรมแผนที่ และพิพิธภัณฑสถาน ตั้งเป็นหน่วยงานลักษณะกระทรวงแต่ยังเรียกว่า กรมธรรมการ ดังเดิม มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานพระสงฆ์ ดูแลโรงเรียน และโรงพยาบาลทั่วประเทศ  เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๓๕ กรมธรรมการได้ยกฐานะเป็นกระทรวง เรียกว่า กระทรวงธรรมการ มีหน่วยงานในสังกัด คือ กรมธรรมการกลาง (รวมกรมราชบัณฑิต) กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล กรมพิพิธภัณฑ์ และกรมสังฆการี  ในช่วงนี้กระทรวงธรรมการเน้นการขยายการศึกษาให้แพร่หลายเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้เข้ารับราชการ และให้ราษฎรมีความรู้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยใช้วัดเป็นสถานศึกษาและมีพระเป็นครูสอน

          ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่หลักในการจัดการศึกษา และให้ส่วนงานที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมธรรมการซึ่งแยกเป็นกรมอิสระ  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าการศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัด จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมธรรมการมารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. ๒๔๖๙  จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ กระทรวงธรรมการเปลี่ยนชื่อมาเป็นกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การศาสนา และการศิลปากร นับแต่นั้นชื่อกระทรวงธรรมการจึงไม่ปรากฏอีกต่อไป.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน