กรมพระคลัง กรมนา

          วันนี้เราจะกล่าวถึงอีก ๒ กรมที่เหลือ คือ กรมพระคลัง และกรมนา ซึ่งจะครบถ้วนเป็นจตุสดมภ์ ที่น่าแปลกคือในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ได้เก็บศัพท์ที่หมายถึง กรมพระคลัง ไว้เป็นคำหลักเลย คำว่า กรมพระคลัง จึงเป็นคำที่เพิ่มขึ้นใหม่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ และให้บทนิยามดังนี้ กรมพระคลัง เป็นคำโบราณศัพท์และเลิกใช้แล้ว เป็นคำนาม หมายถึง กรมใหญ่กรมหนึ่งในจตุสดมภ์ มีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคลัง การต่างประเทศ และการค้ากับต่างประเทศ รวมทั้งบังคับบัญชาศาลในสังกัดซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีความเกี่ยวข้องด้วยพระราชทรัพย์หลวง และคดีความต่างประเทศ พระคลัง หรือพระคลังกรมท่า ก็เรียก; เสนาบดีตำแหน่งตามทำเนียบเดิม คือ เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาโกษาธิบดีฯ หรือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชฯ ก็เรียก ตราประจำตำแหน่งคือตราบัวแก้ว นอกจากนี้ ยังเก็บศัพท์คำว่า คลัง ๓ เพิ่มเติมโดยให้ดูที่คำ กรมพระคลัง ด้วย

          ส่วน กรมนา เดิมในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บที่คำว่า นา ๓ เป็นคำโบราณศัพท์และเลิกใช้แล้ว เป็นคำนาม หมายถึง ตำแหน่งเจ้ากระทรวงปกครองครั้งโบราณ มีหน้าที่ดูแลรักษานาหลวง จัดหาและรักษาเสบียงอาหารสำหรับพระนคร ดูแลทุกข์สุขของชาวไร่ชาวนา แต่เก็บคำ กรมนา โดยให้ดูที่คำ กรม ๓ ซึ่งเป็นการอธิบายความหมายโดยรวมของคำว่ากรม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงแก้ไขนิยามศัพท์ใหม่คือ กรมนา เป็นคำโบราณศัพท์และเลิกใช้แล้ว เป็นคำนาม หมายถึง กรมใหญ่กรมหนึ่งในจตุสดมภ์ มีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษานาหลวง เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง ทำนุบำรุงอาชีพเกษตรกรรมและเก็บค่าภาษีอากรเกี่ยวกับการนั้น รวมทั้งบังคับบัญชาศาลในสังกัดซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับที่นาและโคกระบือเป็นต้น; เสนาบดีตำแหน่งตามทำเนียบเดิม คือ เจ้าพระยาเกษตราธิบดีฯ หรือเจ้าพระยาพลเทพฯ ตราประจำตำแหน่งคือ ตราพระพิรุณทรงนาค และตราอื่น ๆ รวม ๙ ดวง ส่วนคำว่า นา ๓ ให้ดูที่คำว่า กรมนา.

ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน