กรมพระคลัง

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ อธิบายว่า กรมพระคลัง เป็นกรมใหญ่มีกรมย่อยในสังกัดมาก ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเงินของแผ่นดิน การเก็บภาษีอากร การค้ากับต่างประเทศ และการตัดสินคดีเกี่ยวกับพระราชทรัพย์หลวง มี “พระยาโกษาธิบดี” หรือ “พระยาพระคลัง” เป็นเจ้ากรม  ในระยะแรกกรมพระคลังมีหน้าที่หลักในการจัดเก็บภาษี ดูแลการใช้จ่ายของแผ่นดิน และดูแลการตัดสินคดีเกี่ยวกับพระราชทรัพย์หลวงเท่านั้น  เมื่อมีการเดินทางไปค้าขายกับต่างประเทศ กรมพระคลังก็มีหน้าที่แต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขาย และยังมีหน้าที่รับรองชาวต่างชาติที่มาติดต่อค้าขายด้วย ดังนั้น กรมพระคลังจึงรับผิดชอบดูแลทั้งการคลังและการต่างประเทศ

          ต่อมา เมื่อแบ่งการปกครองหัวเมือง กรมพระคลังได้ดูแลหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก และในปลายสมัยอยุธยา มีการยกหัวเมืองปักษ์ใต้ซึ่งเคยอยู่ในความดูแลของกรมพระกลาโหม มาอยู่ในความดูแลของกรมพระคลัง จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้คืนหัวเมืองปักษ์ใต้กลับไปให้กรมพระกลาโหมดูแลดังเดิม  ต่อมาในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระคลังมีกรมย่อยในสังกัด ๘ กรม คือ กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระคลังสินค้า กรมพระคลังใน กรมท่า กรมคลังราชการ กรมคลังวิเศษ กรมคลังศุภรัต และกรมคลังสวน  และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครอง กรมพระคลังก็ได้ยกฐานะเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๓๓ มีหน่วยงานในสังกัด ๑๓ กรม และอีก ๒ ปีต่อมาก็มีการปรับปรุงหน่วยงานภายในใหม่เหลือเพียง ๑๐ กรม ซึ่งกระทรวงนี้กลายเป็นรากฐานของกระทรวงการคลังในปัจจุบัน.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน