กรมรักษาพระองค์

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ อธิบายว่า กรมรักษาพระองค์ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นกรมสังกัดฝ่ายกลาโหม แบ่งออกเป็นกรมรักษาพระองค์ซ้าย และกรมรักษาพระองค์ขวา ทำหน้าที่ประจำรักษาองค์พระมหากษัตริย์ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งในการสงครามและการเสด็จประพาส และถวายการรับใช้ใกล้ชิดเมื่อประทับในพระบรมมหาราชวัง พระมหากษัตริย์ทรงถือว่าคนในกรมรักษาพระองค์เป็นคนใกล้ชิดและเป็นกำลังส่วนพระองค์ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย กรมรักษาพระองค์ถึงจะเป็นกรมฝ่ายกลาโหม ก็ไม่ได้ขึ้นกับสมุหพระกลาโหม แต่ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า ไพร่พลในกรมรักษาพระองค์นั้น ส่วนใหญ่มาจากคนในกรมของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เรียกว่า ข้าหลวงเดิม เพราะถือว่าเป็นคนที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโอนข้าหลวงเดิมมาเป็นรักษาพระองค์ กรมรักษาพระองค์ในแต่ละแผ่นดินจึงมีไพร่พลเป็นเหล่าข้าหลวงเดิมเกือบทั้งสิ้น  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรมรักษาพระองค์มีจำนวนกรมย่อยรวม ๖ กรม และมีกำหนดเกณฑ์เข้าเวรเดือนละ ๒๐๐ คนต่อกรมซึ่งนับว่ามีจำนวนน้อยลง  ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการฝึกหัดทหารแบบยุโรป จึงให้คัดเลือกเกณฑ์คนจากกรมรักษาพระองค์ทั้ง ๖ กรมไปฝึกในกองเกณฑ์หัดทหารอย่างยุโรป และให้รวมทหารในกรมรักษาพระองค์ทั้งที่รับการฝึกแล้วและที่ยังไม่ได้ฝึก ตั้งเป็นกรมทหารรักษาพระองค์  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๔ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมทหารรักษาพระองค์ไปรวมกับกรมทหารหน้าเพื่อให้เป็นกรมทหารแบบยุโรปที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน