กรมราชโลหกิจและภูมิพิทยา

          หน่วยราชการในสมัยก่อนที่น่าสนใจอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ กรมราชโลหกิจและภูมิพิทยา สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ อธิบายไว้ว่า กรมราชโลหกิจและภูมิพิทยา มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการเหมืองแร่และการสำรวจทางธรณีวิทยา ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ประเทศไทยมีการทำเหมืองแร่และการค้าแร่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทำให้วิทยาการในการทำเหมืองแร่ไม่ค่อยก้าวหน้านัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิพิทยาขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ เป็นกรมเอกเทศ แต่คนทั่วไปมักเรียกว่า กรมแร่ ในปีต่อมามีการปฏิรูปการปกครองและจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ขึ้น กรมราชโลหกิจและภูมิพิทยาไปขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตราธิการได้เพียง ๒-๓ ปี ก็ย้ายไปขึ้นกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๙ ก็ย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย

          จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ กรมราชโลหกิจและภูมิพิทยาลดฐานะมาเป็นกองโลหกิจในกรมที่ดินและโลหกิจ แล้วย้ายไปสังกัดกระทรวงเศรษฐการ มีการตั้งแผนกสำรวจธรณีวิทยาขึ้นในกองโลหกิจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และย้ายไปสังกัดกระทรวงเกษตราธิการอีก  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๔ กองโลหกิจก็ได้รับการยกฐานะกลับเป็นกรม สังกัดกระทรวงเศรษฐกิจ ในปีต่อมาได้ตั้งกระทรวงอุตสาหกรรมขึ้น แล้วโอนกรมโลหกิจมาสังกัดกระทรวงนี้  ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ เปลี่ยนชื่อกรมโลหกิจเป็นกรมทรัพยากรธรณีขึ้นกับกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ กรมทรัพยากรธรณีจึงกลับมาสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง

          กรมทรัพยากรธรณีถูกแบ่งออกเป็น ๔ กรมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ คือ กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สังกัดกระทรวงพลังงาน.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน