กรมวัง

          กรมที่ ๒ ของจตุสดมภ์ ที่จะกล่าวต่อไป คือ กรมวัง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ได้แก้ไขปรับปรุงและเพิ่มเติมบทนิยามศัพท์นี้ใหม่ทั้งหมด

          เดิมในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้เก็บศัพท์ กรมวัง และ วัง ๒ โดยให้นิยามศัพท์คำ กรมวัง ว่าเป็นคำนาม มี ๒ ความหมาย ความหมายแรก หมายถึง แผนกราชการที่บริหารกิจการในพระราชสำนัก และความหมายที่ ๒ หมายถึง ข้าราชการแผนกนี้ เช่น กรมวังรับสั่งใส่เกศี (ตัวอย่างนี้ยกมาจากวรรณคดีเรื่องอิเหนา) ส่วนศัพท์ วัง ๒ เป็นคำโบราณศัพท์และเลิกใช้แล้ว เป็นคำนาม หมายถึง ตำแหน่งเจ้ากระทรวงปกครองครั้งโบราณ มีหน้าที่รักษาพระราชวัง จัดการพระราชพิธีและมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของราษฎร จะเห็นได้ว่า คำทั้งสองให้ความหมายไว้ต่างกัน แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ทั้ง ๒ คำนี้เป็นคำที่ต้องมีความหมายเหมือนกัน

          ดังนั้น ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงได้แก้ไขนิยามศัพท์เป็น ดังนี้ กรมวัง เป็นคำโบราณศัพท์และเลิกใช้แล้ว เป็นคำนาม หมายถึง กรมใหญ่กรมหนึ่งในจตุสดมภ์ มีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจหน้าที่รักษาพระราชมนเทียร พระราชวังชั้นนอก พระราชวังชั้นใน บริหารกิจการในพระราชสำนัก และบังคับบัญชาศาลในสังกัดซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสมใน ได้แก่ ศาลแพ่งวัง ศาลอาชญาวัง และศาลนครบาลวัง รวมทั้งบังคับบัญชาศาลมรดก; เสนาบดีตำแหน่งตามทำเนียบเดิม คือ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์หรือเจ้าพระยาธรรมาธิบดีฯ ตราประจำตำแหน่งคือตราเทพยดาขี่โคนนทิกร ส่วนคำ วัง ๒ ให้ดูที่คำ กรมวัง.

ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน