กรมสนมพลเรือน

          หน่วยราชการในสมัยโบราณของไทยมีจำนวนมาก ทั้งที่ยุบเลิกไปแล้ว เปลี่ยนแปลงฐานะหน้าที่ หรือบางหน่วยงานยังมีอยู่มาจนปัจจุบัน  กรมสนมพลเรือนเป็นหนึ่งในหน่วยราชการที่มีมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน  สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ ได้อธิบายว่า กรมสนมพลเรือน เป็นกรมย่อยในสังกัดกรมวัง มีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา เดิมชื่อ กรมพระสนม แบ่งออกเป็น กรมพระสนมซ้าย มีพระอินทราทิตย์พิพิธราชรักษา เป็นสมุหพระสนมซ้าย และกรมพระสนมขวา มีพระจันทราทิตย์พิพิธราชรักษา เป็นสมุหพระสนมขวา

          กรมพระสนมเป็นส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ต่อมาจึงเรียกกันว่า กรมสนมพลเรือน มีหน้าที่กักขังผู้กระทำความผิดภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่จนถึงข้าทาส ลักษณะการคุมขังแบบนี้เรียกว่า จำสนม หรือ ติดสนม ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า ถูกกักบริเวณในเขตพระราชฐานโดยอยู่ในความดูแลของพวกสนม และคำว่า สนม ในที่นี้หมายถึง เขตพระราชฐานซึ่งเป็นที่กักบริเวณผู้มีฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์หรือข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่

          ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหน้าที่กรมสนมพลเรือน โดยทำหน้าที่จัดการงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น งานโสกันต์ งานผนวช งานพระศพ  เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ กรมสนมพลเรือนได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องนมัสการ เครื่องโกศหีบ และการกักขังพระบรมวงศานุวงศ์ผู้กระทำผิด มีแผนกย่อย ๓ แผนก คือ แผนกเครื่องนมัสการ แผนกโกศหีบ และแผนกทลวงฟัน

          หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ กรมสนมพลเรือนมีการปรับเปลี่ยนฐานะเรื่อยมา ปัจจุบันกรมสนมพลเรือนมีฐานะเป็นแผนกสนมพลเรือน สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง มีเจ้าพนักงานสนมพลเรือนปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิธีศพ ทำสุกำศพ (หมายถึง เอาผ้าขาวห่อศพและใช้ด้ายดิบมัดตราสัง แล้วบรรจุศพลงโกศหรือหีบศพซึ่งมีกระดาษฟางปูรองรับ) ดูแลรักษาเครื่องนมัสการและโกศหีบศพ.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน