กรมเมือง

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มีการแก้ไขปรับปรุงและเพิ่มเติมบทนิยามศัพท์ รวมทั้งศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หลายคำ ซึ่งศัพท์ ๔ คำในจำนวนนั้นที่เป็นกรมที่ประกอบกันขึ้นเป็น จตุสดมภ์ นั่นก็คือ กรมเมือง กรมวัง กรมพระคลัง และกรมนา

          กรมแรกที่จะกล่าวถึง คือ กรมเมือง ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ได้เก็บคำว่า กรมเมือง ไว้ แต่เก็บคำว่า เวียง ๒ เป็นคำโบราณศัพท์และเลิกใช้แล้ว เป็นคำนาม หมายถึง ตำแหน่งเจ้ากระทรวงปกครองครั้งโบราณ มีหน้าที่ปกครองท้องที่ ดูแลทุกข์สุขของราษฎร พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้แก้ไขนิยามของคำว่า เวียง ๒ โดยให้มาดูที่คำ กรมเมือง เหตุผลที่เก็บศัพท์ที่คำ กรมเมือง เป็นคำหลัก เพราะเป็นคำที่ใช้เรียกหน่วยงานนี้ ซึ่งปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ส่วนคำ เวียง ๒ เป็นการนำคำ เวียง ๑ ที่มีใช้อยู่ก่อนแล้ว มาเรียกชื่อหน่วยงานนี้ในเอกสารสมัยหลัง

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้นิยามศัพท์ กรมเมือง ว่า เป็นคำโบราณศัพท์และเลิกใช้แล้ว เป็นคำนาม หมายถึง กรมใหญ่กรมหนึ่งในจตุสดมภ์ มีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในราชธานีและปริมณฑล ปราบปรามโจรผู้ร้าย รวมทั้งบังคับบัญชาศาลในสังกัดซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีความอุกฉกรรจ์และดูแลคุก (เรือนจำ) มหันตโทษ เวียง หรือกรมพระนครบาล ก็เรียก; เสนาบดีตำแหน่งตามทำเนียบเดิม คือ เจ้าพระยายมราชฯ ตราประจำตำแหน่งคือตราพระยมขี่สิงห์.

ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน