กรม ๑

          “กรม” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายในทางกฎหมายว่า ส่วนราชการในราชการบริหารส่วนกลางรองจากกระทรวงและทบวง 

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายถึง “กรม” ว่า เป็นคำที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ใช้เป็นชื่อเรียกคนหมู่หนึ่ง แล้วแต่จะใช้คนหมู่นั้นเพื่อประโยชน์อย่างใด แต่ละกรมมีผู้บังคับบัญชาโดยเฉพาะเพื่อควบคุมงานให้ดำเนินไปโดยสะดวกรวดเร็ว  คำว่ากรมนี้ ใช้ได้ทั้งทหารและพลเรือน  ลักษณะกรมในสมัยอยุธยานั้นแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ กรมที่เป็นส่วนราชการหรือที่เรียกว่า กรมประจำ และกรมเฉลิมพระเกียรติเจ้านายที่พระมหากษัตริย์โปรดให้ตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มพระเกียรติแก่เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีความดีความชอบในการปฏิบัติราชการแผ่นดินเป็นผู้บังคับบัญชา กรมนี้เคยเรียกกันว่า กรมชั่วคราว   

          กรมประจำหรือกรมที่เป็นส่วนราชการในสมัยอยุธยาถือการปกครองแบบจตุสดมภ์เป็นหลัก โดยมีกรมใหญ่ ๔ กรมคือ กรมวัง กรมเมือง กรมคลัง และกรมนา  การปกครองแผ่นดินโดยถือกรมจตุสดมภ์ทั้ง ๔ เป็นหลักนั้น ได้ถือปฏิบัติเป็นพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปกรมที่จะใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมที่ทรงกำหนดขึ้นใหม่ ๑๒ กรมเป็นกระทรวง   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงบางกระทรวง และทรงตั้งบางกระทรวงขึ้นใหม่

          ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็มีการตั้งกระทรวงขึ้นใหม่บ้างและเปลี่ยนชื่อบ้างตามความเหมาะสม ส่วนตำแหน่งเสนาบดีก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐมนตรี และได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นกระทรวงและกรมในปัจจุบัน ส่วนเรื่องราวของกรมชั่วคราวจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป.

        อิสริยา เลาหตีรานนท์