กรม ๒

          นอกเหนือจากกรมที่เป็นส่วนราชการหรือที่เรียกว่า กรมประจำ แล้ว ยังมีกรมอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า กรมชั่วคราว ซึ่งเป็นกรมเฉลิมพระเกียรติเจ้านายที่พระมหากษัตริย์โปรดให้แต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นพระเกียรติแก่เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งทรงมีความดีความชอบในการปฏิบัติราชการแผ่นดินเป็นผู้บังคับบัญชา

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายถึง กรมชั่วคราว ไว้ว่า กรมเฉลิมพระเกียรตินี้ มีระบุไว้ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การแต่งตั้งพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าหลานเธอให้มีกรมตามพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนนั้น ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร หรือจดหมายเหตุอื่นใดว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใด แต่ได้ทรงแต่งตั้งตำแหน่งที่สูงกว่ากรม เช่น พระบรมราชา แล้วโปรดให้เจ้านายที่ทรงได้รับการแต่งตั้งนั้นไปปกครองหัวเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ราชธานีบ้าง หรือหัวเมืองบ้าง  พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่ได้ครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงถือปฏิบัติเรื่อยมา จนถึงสมัยพระนารายณ์มหาราชจึงได้เปลี่ยนพระราชประเพณีเดิม โดยโปรดให้ตั้งกรมขึ้นใหม่ ๒ กรม และกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็ได้ทรงยืดถือเป็นราชประเพณี โดยทรงแต่งตั้งพระโอรสหรือพระราชวงศ์ที่มีความสามารถให้ทรงกรม  ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาว่า การที่พระเจ้าแผ่นดินจะสถาปนาเจ้านายที่มีความชอบให้ทรงกรมนั้น เท่ากับเป็นการยกย่องและเฉลิมพระเกียรติยศของเจ้านายเฉพาะพระองค์ หาได้มุ่งหมายที่จะสะสมไพร่พลเช่นในอดีต จึงโปรดเกล้าฯ ให้คงมีแต่ตำแหน่งเจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี เท่านั้น  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลก็ไม่ได้ยกเลิกพระราชประเพณีนี้ คงสนองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งเจ้านายที่มีความชอบหรือที่สมควรจะเทิดทูนพระเกียรติยศให้สูงขึ้นได้ เหมือนอย่างพระราชประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาแต่โบราณ.

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์