กระดิก กระดิกกระเดี้ย กระดุกกระดิก

          คำว่า กระดิก กระดิกกระเดี้ย กระดุกกระดิก เดิมกรรมการชำระปทานุกรมได้นิยามว่า

          กระดิก ก. ไหว ทำปลายอวัยวะเช่นมือหรือเท้าให้ไหว และใช้เป็นสร้อยคำของกระดุก. กระดิกกระเดี้ย ก. ไหวน้อย ๆ. กระดิกหู (ปาก สำ) ก. รู้ เช่น ว่า ก ข ไม่กระดิกหู คือไม่รู้ ก ข.

          กระดุกกระดิก ก. กระดิก ไหว

          เมื่อได้ส่งร่างพจนานุกรมไปยังผู้ที่สนใจเพื่อพิจารณาทักท้วงแล้ว กรรมการชำระปทานุกรมผู้หนึ่งได้ส่งข้อทักท้วงมา โดยมีข้อปรารภดังนี้

          ๑. กระดิก จะเป็นสร้อยคำของ กระดุก ไม่ได้ เพราะมีความตามลำพังตัว ถึงอยู่หลัง กระดุก ก็ไม่ใช่สร้อย ที่แท้เป็นตัวความ คำที่จะเรียกว่า สร้อย นั้น คือไม่มีความตามลำพังตัว และอยู่หลังคำอื่น ที่ว่ามีความตามลำพังตัวนั้นเพราะแยกใช้ได้ตามลำพัง เช่น คำว่า กระดิก แม้ไม่ประสมกับคำอื่น ก็มีที่ใช้ได้และอยู่หน้าก็มี เช่น กระดิกกระเดี้ย อยู่หลังก็มี เช่น กระดุกกระดิก แม้คำที่ไม่มีความหมายตามลำพังตัว ก็ย้ายตำแหน่งได้เหมือนกัน คือ อยู่หน้าก็มี เช่น กระดุก อยู่หลังก็มี เช่น กระเดี้ย คำเช่นนี้ที่อยู่หลัง เราตกลงกันเรียกว่า สร้อยคำ แต่ที่อยู่หน้าเรียกอย่างไร ดูเหมือนยังไม่ได้ตกลงไว้ จึงขอให้ตกลง เพราะจะต้องพบอีกมากมาย

          ๒.ในที่นี้ จะขอสมมุติเรียกไปทีก่อน เพียงจะใช้ในคำชี้แจงนี้ พอเข้าใจกันเท่านั้น คือ คำซึ่งไม่มีความตามลำพังตัวดังกล่าวมาแล้ว ที่อยู่หน้า จะขอเรียกว่า ต้นคำ เพื่อเข้าคู่กับที่อยู่หลัง ซึ่งบัญญัติเรียกแล้วว่า สร้อยคำ ส่วนที่มีความตามลำพังตัว จะขอเรียกว่า ตัวคำ เป็นอันว่าในลักษณะนี้มีสมมุติครบทั้ง ๓ นัย เป็นชุดหนึ่ง คือ ตัวคำ ต้นคำ สร้อยคำ ต้นก็ดี สร้อยก็ดี ในที่นี้หมายเอาภาษาธรรมดาโดยเฉพาะ ไม่หมายเอาบทกลอน เพราะในบทกลอน ต้น อาจกลับเป็น สร้อย และ สร้อย อาจกลายเป็น ต้น ก็ได้ เช่น กระดิกกระเดี้ย เป็น กระเดี้ยกระดิก กระดุกกระดิก เป็น กระดิกกระดุก ดังนี้เป็นต้น เป็นภาษาไม่ยืนตัว

          ๓. ต้นคำก็ดี สร้อยคำก็ดี ไม่มีความตามลำพังตัวก็จริง แต่จะว่าไม่มีความเลยไม่ได้ เพราะมีรสสำหรับทำตัวความให้แปลกไป ทั้งในทางที่อ่อนลง หรือในทางที่แรงขึ้น คือเป็นจำนวนลบหรือเป็นจำนวนบวกของความได้ เช่น กระดิก เป็นตัวคำมีความตามลำพังตัว ว่า ไหว เติม กระเดี้ย ลงไป เป็นจำนวนลบ หมายความว่า ไหวน้อย ๆ หรือพอไหวได้ ถ้าเติมกระดุกลงไป ก็เป็นจำนวนบวก หมายความว่า การกระดิกนั้นเป็นไปสู่ที่เดิม คือไหวไปแล้วก็ไหวมา หรือไหวมาแล้วก็ไหวไป ซึ่งตรงตามภาษาว่า ไหวไปไหวมา ไม่ใช่ ไหวไปทางเดียวแล้วก็หยุด

          ๔. คำว่า กระดิก หมายความว่า พลิก ก็มี เช่นพูดว่า นอนหลับไม่กระดิกตัวทีเดียว จะอนุโลมเข้ากับไหวก็ได้ แต่ผิดความหมายที่พูดกัน เพราะคนที่นอนกรนครอก ๆ อกก็กระเพื่อมไหวทุกที จะว่าไม่ไหวอย่างไรได้ ที่พูดว่า ไม่กระดิกตัว เขาไม่ได้หมายเอาอย่างนั้น เขาหมายเอาล้มตัวลงนอนท่าไร ก็หลับอยู่ท่านั้น ไม่พลิกไปท่าอื่น อีกอย่างหนึ่ง ข้อความหลักฐานที่พลิกแพลงไม่ได้ ก็พูดกันว่าไม่กระดิก มีอยู่เหมือนกัน

          ๕. กระดิกหู แปลว่า รู้ เห็นอย่างไรอยู่ สงสัยว่าจะผิดความ เพราะตัวคำกับคำแปลดูไม่ติดต่อกันเลย เกรงจะไปข้างพุ่งส่ง แต่ผู้สงสัยเองก็ไม่แน่ใจว่าจะแปลอย่างไรถูก เป็นแต่พอจะชี้แจงได้บ้าง ดังต่อไปนี้

          ก. คำว่า กระดิกหู มีใช้ทั้งในพากย์ปฏิเสธและไม่ปฏิเสธ พากย์ปฏิเสธได้แก่ตัวอย่างในร่างนั้น เขาใช้กันว่า กอข้อไม่กระดิกหู เราเอาคำในสำนวนนี้เองขึ้นตั้งว่า กระดิกหู ตัดปฏิเสธในสำนวนของเขาออกเสีย แปลไว้ว่า รู้ แล้วกลับยกเอาสำนวนเดิมของเขา ซึ่งเป็นพากย์ปฏิเสธนั่นเองมาเป็นอุทาหรณ์ เช่นนี้ คำแปลของเราจะเป็นขุดบ่อให้ปลาหลง เพราะทำให้เข้าใจว่าใช้ได้ตลอดไปถึงพากย์ไม่ปฏิเสธด้วย ที่จริงใช้ไม่ได้ทีเดียว ดังจะกล่าวไว้ในข้ออื่น

          ข. คำว่า ไม่กระดิกหู เขาใช้กันมาตั้งแต่ครั้ง กอข้อ ไม่ใช่ครั้ง ก ข เสียงที่พูดจึงเป็น กอข้อไม่กระดิกหู ไม่ใช่ ก ข ไม่กระดิกหู แม้ในสมัย ก ข ก็คงเป็น กอข้อไม่กระดิกนั่นเอง เพราะภาษาอดีต ย่อมเดินลงมาเป็นภาษาปัจจุบันได้ แต่ภาษาปัจจุบันจะเดินย้อนขึ้นไปเป็นภาษาอดีตไม่ได้ ส่วนในร่างพจนานุกรมเราเขียนไว้ว่า ก ข ไม่กระดิกหู ดังนี้ ไม่ตรงกับความจริง เสียงว่า ก ข ควรใช้เฉพาะในคำแปล เพราะเป็นเสียงในปัจจุบัน และเป็นถ้อยคำของเราเอง เราใช้ได้ แต่เสียงว่า กอข้อ ในตัวสำนวนภาษาเก่าซึ่งถูกต้องชัดเจนไม่วิปริต เราไม่มีสิทธิ์จะไปแปลงสารของเขาได้

          ค. สำนวนนี้เขาใช้เฉพาะสำหรับว่า คนที่เรียนหนังสือ แต่ปัญญาทึบหรือเกียจคร้าน จนแม้ ก ข ก็จำไม่ได้ ส่วนคนไม่เรียนเลยก็แล้วไป เขาไม่ว่า ถ้าเราแปล กระดิกหู ว่า รู้ สำนวนนี้ลามไปถึงคนไม่เรียนด้วย ก็เป็นผิดความหมายของภาษาที่เขาพูด อันที่จริง กระดิกหู เป็นคำ ๒ คำประสมกัน ทั้งแปลตามตัวคำได้ด้วย เมื่อแปลว่า รู้ คำแปลก็โดดเดี่ยวออกนอกวงไปทีเดียว ไม่ต่อเนื่องกับตัวคำ เข้าใจว่า ไม่กระดิกหู คือไม่ติดหู ไม่เข้าหู หมายความว่า ไม่จำ เพราะในสำนวนนี้ยกเอา ก ข ขึ้นมาว่า เรื่องของ ก ข ก็เพียงจำเท่านั้น ไม่ได้หมายเลยไปถึง รู้ ซึ่งเกินราคาของ ก ข ด้วยเหตุนี้ที่แปลว่า รู้ จึงเห็นว่าแล่นล่วงความหมายของเขาไป

          ง. พากย์ไม่ปฏิเสธ คือ ชั่วช้างกระดิกหู คำนี้ชาวชนบทใช้กันมาก สำหรับกำหนดขณะอันเล็กน้อยยิ่งกว่า In less than no time ที่เอาช้างขึ้นมาว่า ก็เพราะการกระดิกหูใบหูของช้างชัดเจนเห็นได้ง่าย ไม่หลุกหลิก คือพึบแล้วก็พับ คล้ายพัดที่เขาโบก คำว่า กระดิกหูในสำนวนนี้ต้องแปลเหมือนกัน เพราะไม่ใช่กระดิกอย่างแมวและสุนัขด้วยซ้ำ ถ้าเราเก็บสำนวนกอข้อไม่กระดิกหู ก็น่าจะเก็บไว้ด้วยกัน

          ๖. ตามเหตุผลทั้งหมดนี้ เห็นจำเป็นจะต้องแก้และเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

          ก. ในคำแปลของคำว่า กระดิก ควรเติมคำว่า พลิก เขาไปอีกความหนึ่ง
          ข. “และใช้เป็นสร้อยคำของกระดุก” ควรตัดออกเสีย ถ้าไม่ตัดต้องเรียงใหม่ว่า ใช้ตามหลังคำว่า กระดุก แต่ไม่สมควรเลย สู้ตัดออกไม่ได้ เพราะคำว่า กระดุกกระดิก มีอยู่อีกแห่งหนึ่ง ส่วน กระดุก คำเดียวไม่มี ก็ไม่มีใครจะเอาไปใช้ลุ่น ๆ โดยไม่มีคำว่า กระดิก ประกอบกัน
          ค. คำแปลของ กระดิกกระเดี้ย ควรเติมอีกความหนึ่ง คือ พอไหวได้
          ง. สำนวนว่า กระดิกหู ควรเก็บไว้ให้ครบทั้งพากย์ปฏิเสธและไม่ปฏิเสธ มิฉะนั้นก็อย่าเก็บเลย ถ้าเก็บต้องแยกบอกให้ชัดว่า ในสำนวนไหน แปลอย่างไร และ ก ข ไม่กระดิกหู ต้องแก้เป็น กอข้อไม่กระดิกหู ให้ตรงกับความจริง ส่วนเสียงว่า ก ข เอาไว้ใช้ในคำแปล
          จ. กระดุกกระดิก แปลไว้ว่า กระดิก ไหว. เท่านี้ไม่พอ เพราะเป็นการแปลไม่ใช่เอาความ คำ ๒ คำ แปลเท่ากับคำเดียว เช่น กระดิก แปลว่าไหว กระดุกกระดิก ก็แปลว่า กระดิก หรือไหว เช่นนี้ก็เท่ากับเอาจำนวนบวกเป็นจำนวนลบ เพราะฉะนั้นควรแปลว่า กระดิกไปกระดิกมา ไหวไปไหวมา.

          คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วตกลงดังนี้

          ๑. ให้แก้ร่างเดิมใหม่เป็น

          กระดิก ก. ไหว ทำปลายอวัยวะเช่นมือหรือเท้าให้ไหว. (ปาก) “ก ข ไม่กระดิกหู” หมายความว่า ไม่รู้ ก ข. กระดิกกระเดี้ย ก. ไหวน้อย ๆ พอไหวได้.
       กระดุกกระดิก ก. กระดิกไปกระดิกมา ไหวไปไหวมา.

          ดังปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓

          ๒. เรื่องสร้อยคำ คำคู่ เช่น กระซิกกระซี้ กระดิกกระเดี้ย เมื่อคำหน้าใช้พูดเป็นคำเดียว คำหลังคือ กระซี้ กระเดี้ย จึงนับเป็นสร้อยคำได้ แต่ถ้าใช้พูดทั้งคู่อยู่เสมอ เช่น กระดุกกระดิก ไม่เคยใช้เพียง กระดุก คำเดียว มิให้นับคำว่า กระดิก เป็นสร้อยคำของ กระดุก

          เรื่อง สร้อยคำ นี้ ต่อมาคณะกรรมการได้ตกลงแก้ใหม่โดยให้บอกไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า “ใช้เข้าคู่กับคำ” เช่น-กระซี้ ใช้เข้าคู่กับคำ กระซิก และกระเซ้า -กระเดี้ย ใช้เข้าคู่กับคำ กระดัก และ กระดิก ดังปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๕

          ต่อมาคณะกรรมการชำระปทานุกรมได้พิจารณาทบทวนแก้ไขบทนิยามใหม่ ดังปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ดังนี้

          กระดิก ก. ไหว ทำปลายอวัยวะเช่นมือหรือเท้าให้ไหว.
         
กระดิกกระเดี้ย ก. ไหวน้อย ๆ พอไหวได้บ้าง.
          กระดุกกระดิก ว. อาการที่ขยับไปขยับมาไม่อยู่นิ่ง ๆ ยักไปยักมา ดุกดิก ก็ว่า. และให้เพิ่มคำ ก ข ไม่กระดิกหู ดังนี้
           ก ข ไม่กระดิกหู [โบ อ่านว่า กอข้อ-] (สำ) ว. ผู้ที่เรียนหนังสือแล้วไม่รู้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้.

(จากวารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓)