กระต่ายสามขา

          ความหมายหนึ่งของคำว่า “สำนวน” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้นิยามว่าหมายถึง “ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง”

          บทความนี้ขอเสนอที่มาของสำนวนไทยว่า “กระต่ายสามขา” ซึ่งพจนานุกรมนิยามสำนวนนี้ว่า “ยืนกรานไม่ยอมรับ กระต่ายขาเดียว ก็ว่า” ที่มาของสำนวนนี้เล่ากันมาโดยมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย แต่ใจความหลักนั้นพอสรุปได้ ดังนี้

          กระต่ายป่าตัวหนึ่งบาดเจ็บหนีจากการไล่ล่าของนายพรานเข้ามาตายในวัด ลูกศิษย์เห็นเข้าจึงนำมาทำเป็นอาหารเพื่อถวายอาจารย์ เมื่อทำเสร็จนึกอยากกินจึงแอบกินเสีย ๑ ขา เหลืออีก ๓ ขาไปถวายอาจารย์ อาจารย์ก็รู้แต่ก็แกล้งถามว่า กระต่ายมี ๓ ขาเท่านั้นหรือ ลูกศิษย์ก็ยืนกรานตอบว่ามีเท่านั้นจริง ๆ แม้จะถามย้ำก็ได้คำตอบเช่นเดิม

          วันเวลาผ่านไป วันหนึ่ง ลูกศิษย์ได้พบยาวิเศษของอาจารย์ ทาแล้วหายตัวได้ จึงต้องการทดลองสรรพคุณ ด้วยความตะกละตะกลามของตน จึงอยากเห็นกระยาหารที่เขาจัดถวายพระราชา ดังนั้น จึงทายาทั่วร่างหายตัวเข้าไปวัง ครั้นเห็นกระยาหารของพระราชาก็อดใจไม่อยู่ ตรงเข้าไปกินจนเหงื่อไหลไคลย้อย ยาที่ทาตัวเอาไว้ละลายไปหมด ทำให้พระราชาจับได้ และต้องได้รับโทษประหารชีวิต

          อาจารย์ทราบข่าวก็อุตส่าห์มาดูใจ และลองถามเรื่องกระต่าย ๓ ขาอีกครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์ก็ยืนกรานคำตอบดังเดิม

         ผู้เขียนยืนยันว่า ที่มาของสำนวนนี้ เล่ากันมาทำนองนี้จริง ๆ ครับ

สำรวย นักการเรียน