กระเดื่อง

                พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบายความหมายของคำว่า กระเดื่อง ไว้ถึง ๓ ความหมาย  ความหมายแรก กระเดื่อง คือ อุปกรณ์ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ท่อนยาว ปลายด้านหัวมีสากสำหรับตำข้าว ปลายด้านหางทำเป็นที่เหยียบ เจาะรูที่ด้านข้างเยื้องไปทางปลายด้านหาง และมีไม้เป็นแกนสอดตรึงติดกับเสาหรือหลักให้หมุนได้  เมื่อเหยียบที่ข้างหางและกดลง หัวจะกระดกขึ้น  เมื่อปล่อยเท้า หัวก็จะกระแทกลง  คำว่า กระเดื่อง ในความหมายนี้ยังใช้เรียกเครื่องจักรนาฬิกาชิ้นหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น ว่า กระเดื่อง ด้วย

ความหมายที่ ๒ ของคำว่า กระเดื่อง คือ สูงขึ้น หรือโด่งดัง  ใช้ประกอบลักษณะของคุณงามความดี เช่น ชื่อเสียงกระเดื่อง  หรือแปลว่า แข็ง หรือกระด้าง เช่น ข้อความในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ที่ว่า “ยามเมื่อเจ้าเยื้องยุรยาตร ก็มิได้ย่างลงเหยียบดินกระเดื่องใด”  คำว่า กระเดื่อง ในความหมายนี้นิยมใช้เข้าคู่กับคำว่า กระด้าง เป็น กระด้างกระเดื่อง

            คำว่า กระเดื่อง ในความหมายที่ ๓ คือ แหนง หรือหมาง เช่น ข้อความในหนังสือเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอ
พระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๖๐–๖๑ ที่ว่า “จะกระเดื่องใจเมื่อไปถึง”  หรือจะแปลว่า กระดาก ก็ได้ เช่น ข้อความในลิลิตนิทราชาคริต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “ไป่กระเดื่องสะดุ้ง   ฟูมฟาย”  คำว่า กระเดื่อง ในความหมายนี้นิยมใช้เข้าคู่กับคำว่า กระดาก เป็น กระดากกระเดื่อง

ท่านผู้อ่านนึกสงสัยหรือไม่ว่า เหตุใดความหมายที่ ๒ และ ๓ ของคำว่า กระเดื่อง จึงใช้เข้าคู่ได้ทั้งกับคำว่า กระด้าง และ กระดาก   บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  มีคำตอบให้ว่า เป็นเพราะคำว่า กระเดื่อง เคยมีความหมายว่า กระด้าง และ กระดาก แต่ปัจจุบันคำว่า กระเดื่อง กระด้าง กระดาก กระด้างกระเดื่อง และ กระดากกระเดื่อง มีความหมายต่างกัน.

                                                                                                            อารยา  ถิรมงคลจิต

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗