กลองวินิจฉัยเภรี

          ท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างหรือไม่คะ ว่าในสมัยก่อนเมื่อจะมีการร้องทุกข์ เขาทำกันอย่างไร  วันนี้ดิฉันจะมาเล่าสู่กันฟังกันค่ะ ในสมัยก่อนเมื่อจะมีการร้องทุกข์ของราษฏรนั้น ผู้ที่ร้องทุกข์จะตีกลองที่เรียกว่า “กลองวินิจฉัยเภรี”  จากหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าถึง “กลองวินิจฉัยเภรี” ว่า เป็นกลองที่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปบูรณปฎิสังขรณ์เมืองจันทบุรี เป็นผู้สร้างและส่งเข้ามาถวายเมื่อ ค.ศ. ๒๓๘๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริว่า ความทุกข์ร้อนของราษฎรที่จะร้องถวายฎีกาได้ก็ต่อเมื่อเวลาเสด็จออก แต่ถ้าให้ตีกลองร้องฎีกาได้ทุกวัน ก็จะสามารถบรรเทาทุกข์ของราษฎรได้ และได้พระราชทานนามกลองนี้ว่า วินิจฉัยเภรี

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีที่ทิมดาบกรมวัง แล้วทำกุญแจปิดลั่นไว้ เวลามีผู้ต้องการจะถวายฎีกา เจ้าหน้าที่กรมวังก็จะไปไขกุญแจให้  เมื่อผู้ถวายฎีกาตีกลองแล้ว  ตำรวจเวรก็ไปรับเอาตัวมา และนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  ถ้ามีพระราชโองการสั่งให้ผู้ใดชำระ  พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จัดส่งฎีกาที่ราษฎรร้องทุกข์ ไปตามพระราชโองการทุกครั้งไป

          เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า ผู้ที่เข้าตีกลองถวายฎีกาส่วนมากได้รับความยากลำบาก  เนื่องจากต้องเสียค่าไขกุญแจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกตีกลองเสีย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ป่าวประกาศว่า ต่อไปจะเสด็จออกรับฎีกา ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ในวันขึ้น ๗ ค่ำ แรม ๗ ค่ำ และแรม ๑๓ ค่ำ ในเดือนขาด และแรม ๑๔ ค่ำในเดือนเต็ม  เมื่อเวลาจะเสด็จออก ให้ตีกลองวินิจฉัยเภรีเรียกผู้ที่จะถวายฎีกามาชุมนุมกันหน้าพระที่นั่ง  เมื่อราษฎรได้ทราบวันและเวลาเสด็จออกทั่วกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใช้กลองอีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสำหรับเก็บกลองใบนี้ไว้ที่ข้างป้อมสิงขรขัณฑ์ ริมประตูเทวาพิทักษ์  ต่อมา จึงได้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และยังตั้งแสดงให้ประชาชนได้ชมจนถึงปัจจุบัน.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์