กล่อมช้าง

          ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองไทยมาแต่โบราณ  ช้างมีส่วนในการปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศมากมาย  ในอดีต ยามบ้านเมืองมีภัย กองทัพใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทางไปสู่สนามรบ  ส่วนในยามปรกติ นั้น มักใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  กล่าวถึง “ช้าง”  ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  มีลักษณะสำคัญ คือ มีจมูกยื่นยาวออกไปมากเรียกว่างวง  ที่ปลายงวงมีจะงอยสำหรับหยิบของ มีฟันหน้างอกยาวเรียกว่างา หูใหญ่ คอสั้น ร่างใหญ่ น้ำหนักมาก  ในวรรณกรรมไทยมีการกล่าวถึง “ช้าง”  ในคำฉันท์ดุษฎีสังเวยที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบในพิธีคชกรรมว่า  ในอดีต พระมหากษัตริย์จะเสด็จไปยังวังช้างเพื่อคล้องช้างเถื่อนนำใช้ในกิจการต่าง ๆ  หลังจากที่ได้ช้างตามที่ต้องการจึงได้มีการแต่งคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างหรือคำฉันท์กล่อมช้าง เพื่อกล่อมช้างซึ่งคล้องมาได้ให้มีความเชื่อง  ดังตัวอย่างคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมพระศรีนรารัฐราชกิริณี พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ  กิติวัฒนาดุลโสภาคย์  ซึ่งมีทั้งหมด ๔ ลา คือ ลา ๑ บทสดุดี   ลา ๒ ลาไพร   ลา ๓  ชมเมือง  และ ลา ๔  สอนช้าง   “บทสดุดี” กล่าวถึงการสดุดีเทพพร้อมเชิญเทพมารับเครื่องบายศรี  กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์  “ลาไพร” กล่าวถึงการปลอบโยนช้างที่จะต้องจากป่าที่เคยอยู่มาอยู่ในเมือง โดยมิให้มีความอาลัยอาวรณ์  เพื่อให้มุ่งไปสู่การทำหน้าที่เป็นช้างคู่พระบารมี  “ชมเมือง” กล่าวถึงการชื่นชมสถานที่ในเมืองว่ามีความสวยงามน่าอยู่ เพื่อให้ช้างมีความรู้สึกว่าอยากอยู่ในเมือง  “สอนช้าง” กล่าวถึงการสอนให้ช้างมีระเบียบวินัยในการอยู่ในสังคมเมือง.

ปาริชาติ กิตินันทน์