กล้วยไม้

          คำว่า กล้วยไม้ เป็นคำที่เกิดจากการนำคำ ๒ คำ มาประสมกันแล้วเกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ขึ้น แต่ยังมีเค้าของความหมายเดิมอยู่ หม่อมเจ้า ลักษณากร เกษมสันต์ อธิบายความหมายของกล้วยไม้ไว้ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่าหมายถึง หมู่พฤกษชาติพวกใบเลี้ยงเดี่ยว มีขึ้นอยู่ตามป่าชื้นที่มีฝนอุดมสมบูรณ์ ที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินเป็นพืชล้มลุกก็มี ที่เกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้อื่นหรือตามหินผาเป็นพืชถาวรก็มี ถ้าเป็นพวกล้มลุก ลำต้นจะมีหัวอยู่ใต้ดิน มีรากออกจากหัวนั้น ๆ แล้วแตกหน่อขึ้นมาผลิดอกออกใบบนพื้นดิน ถ้าเป็นพวกพืชถาวร มีหลายลักษณะ เป็นเหง้า เป็นหน่อ เป็นลำ ซึ่งมักเรียกว่า ลำลูกกล้วย เป็นเส้นตรง ๆ กลมหรือแบนก็มี คล้ายกับกิ่งอ่อน ๆ ของต้นไม้ก็มี แล้วมีรากออกจากเง่าและจากลำต้น ใบก็เช่นเดียวกันมีหลายแบบยากที่จะกำหนดให้ตายตัวลงไปได้ ทางภาคเหนือของประเทศไทยมักเรียกกล้วยไม้ว่า “เอื้อง” แต่คำว่าเอื้อง ไม่ได้จำกัดว่าเป็นชื่อเรียกกล้วยอย่างเดียว หากยังเรียกพันธุ์ไม้อื่น ๆ ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับกล้วยไม้ด้วยเช่นเดียวกัน

          เคยมีผู้สงสัยว่า ทำไมจึงเรียกพรรณไม้ชนิดนี้ว่า กล้วยไม้” ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีกล้วยเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ ซึ่งเป็นกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช ของราชบัณฑิตยสถาน ให้คำตอบว่า น่าจะมาจากลักษณะปรากฏของกล้วยไม้บางชนิด เช่น กล้วยไม้ในสกุลเอื้องต่าง ๆ ที่มีลำต้นอวบสั้นขึ้นเป็นกระจุกตามกิ่งไม้และต้นไม้ ที่เรียกว่า ลำลูกกล้วย ซึ่งดูแล้วคล้ายกล้วย จึงเรียกเป็นกล้วยไม้

          กล้วยไม้นี้มีมากมายหลายชนิด ส่วนมากมีดอกสวยงาม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ บ้างก็ทำการผสมเป็นพันธุ์ใหม่ ๆ เป็นที่นิยมกันทั่วไปและซื้อขายกันด้วยราคาแพง ๆ เช่น กล้วยไม้สกุลคัทลียา ที่มีดอกงดงามมาก จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งกล้วยไม้”

อารี พลดี