การกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศ

          ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแต่ละประเทศมีการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศของตนเองและเป็นที่น่าศึกษาเนื่องจากในบางประเทศมีปัญหาด้านการล่วงล้ำดินแดนเพราะปัญหาการแบ่งเขตแดนที่ไม่ชัดเจน  ทั้งนี้ จึงขออธิบายการกำหนดแนวเขตแดนระหว่างประเทศตามหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๑  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งกล่าวไว้ว่า หลักเกณฑ์ในการกำหนดแนวเขตแดนระหว่างประเทศโดยทั่วไปมี ๒ ประการ คือ

          ๑. ใช้แนวเขตแดนตามลักษณะภูมิประเทศหรือลักษณะทางกายภาพ คือ อาศัยลักษณะภูมิประเทศที่มีสภาพเป็นธรรมชาติอย่างเด่นชัด  สามารถกำหนดแนวได้ชัดเจนและเปลี่ยนแปลงได้ยาก  รวมทั้งไม่เป็นสิ่งรวมหรือดึงดูดผลประโยชน์ของคนหรือของประชาชนในแต่ละรัฐเข้าไว้ด้วยกัน  อันอาจเป็นชนวนในการพิพาทเกิดขึ้นได้ภายหลัง  สภาพธรรมชาติที่นิยมใช้เป็นแนวเขตแดน ได้แก่ ทิวเขา เป็นแนวเขตแดนที่เด่นชัด ส่วนใหญ่จะใช้สันปันน้ำ คือส่วนที่ทำให้น้ำแยกไหลไปทั้ง ๒ ข้าง หากไปกำหนดแนวเขตแดนบริเวณอื่นของทิวเขาอาจก่อให้เกิดปัญหาหรือกรณีขัดแย้งกันได้ง่าย  ส่วนสภาพธรรมชาติที่ใช้เป็นแนวเขตแดนอีกชนิดได้แก่ แม่น้ำซึ่งมีแม่น้ำหลายสายที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดน โดยส่วนใหญ่นิยมใช้ร่องน้ำลึกของลำน้ำเป็นเส้นแบ่ง  ถ้าหากแม่น้ำนั้นใช้ในการเดินเรือได้ แต่ถ้าไม่สามารถใช้ในการเดินเรือได้ การแบ่งเขตแดนอาจใช้วิธีอื่น เช่น ใช้แนวกึ่งกลางลำน้ำหรือเส้นมัธยะของลำน้ำ  ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้การกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศโดยใช้แม่น้ำ คือ  ร่องน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามจุดต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากการปรับตัวของลำน้ำ ซึ่งเกิดจากการกัดกร่อนและการทับถมของท้องน้ำ ก่อให้เกิดการไหลคดโค้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อใช้ลำน้ำแบ่งเขตแดนระหว่างรัฐ อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากและขัดแย้งให้กับรัฐทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำได้

          ๒.  ใช้แนวเขตแดนที่สร้างขึ้น คือ ใช้สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือจัดทำขึ้นโดยไม่อาศัยสภาพธรรมชาติ เช่น สร้างเป็นหลักเขตแดน กำแพง รั้ว สะพาน อนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ นิยมใช้ในการแบ่งเขตแดนบริเวณที่เป็นที่ราบ ทุ่งโล่ง หรือไม่มีสภาพธรรมชาติเด่น ๆ อย่างอื่นปรากฏอยู่  จำเป็นต้องสร้างหรือจัดทำสิ่งที่จะบ่งบอกแนวเขตแดนให้มองเห็นได้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เกิดกรณีรุกล้ำดินแดนกันขึ้นในภายหน้า. 

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์