การประกันคุณภาพ

          ในปัจจุบัน การประกันคุณภาพ เป็นเรื่องที่ทุกองค์การเห็นความสำคัญ การประกันคุณภาพการศึกษาก็เช่นเดียวกัน คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย อธิบายว่า การประกันคุณภาพการศึกษา (educational quality assurance) หมายถึง ระบบและกลไกที่สถานศึกษากำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมั่นใจว่า สถานศึกษาบริหารและจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมถึงมีวิธีการและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่สถานศึกษาดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่มุ่งหวังและสนองความต้องการของผู้เรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนบรรลุมาตรฐานการศึกษาที่ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินผล เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ การประกันคุณภาพการศึกษามีฐานความคิด ๗ ประการ คือ ๑) พัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีคุณธรรมนำความรู้ ๒) นำผลการติดตาม ตรวจสอบและประเมินสถานศึกษาไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารการศึกษาให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งปรับการเรียนและเปลี่ยนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ๓) ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และสะท้อนความเป็นจริงของคุณภาพของสถานศึกษา ๔) มาตรฐานการศึกษาต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และการกำหนดระบบประกันคุณภาพการศึกษาเป็นหน้าที่ของหน่วยงานระดับประเทศ ๕) การประกันคุณภาพภายในเป็นหน้าที่ของสถานศึกษา โดยความร่วมมือของชุมชน และการสนับสนุนจากต้นสังกัด ส่วนการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นหน้าที่ขององค์การอิสระ คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ๖) ระบบประกันคุณภาพการศึกษาควรแบ่งเป็น ๓ ระบบย่อย คือ ระบบการควบคุมคุณภาพหรือการพัฒนาคุณภาพ (quality control) ระบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพ (quality audit) และระบบการประเมินคุณภาพ (quality assessment) และ ๗) การประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ดังนั้นการประเมินเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงการบริหารการศึกษาให้ได้มาตรฐาน.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก