การรู้คิด

          เคยสงสัยกันหรือไม่คะว่า การรู้คิด คืออะไร จำเป็นกับชีวิตของเราหรือไม่ และเราจะเรียนรู้การรู้คิดได้อย่างไร คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัยได้อธิบายคำ การเรียนรู้การรู้คิด (cognitive learning) ว่าหมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับกลไกทางสมอง อันประกอบด้วย การรับรู้ การคิด การเข้าใจ การใช้เหตุผล การตัดสินใจ การวางแผน การจำ จินตนาการ เป็นต้น การเรียนรู้การรู้คิดเป็นการเรียนรู้ที่ครอบคลุมการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการรู้คิด (learning about cognition or thinking) การเรียนรู้โดยใช้กระบวนการคิด (learning through thinking) และการคิดเกี่ยวกับการคิดของตน (thinking about thinking) หรืออภิปัญญา (metacognition)

          การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการรู้คิดเป็นการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางสมองของบุคคลในการคิดและเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ เช่น การใช้เหตุผล การตัดสินใจ การแก้ปัญหา ซึ่งมักได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทั้งจากภายนอกและภายในตัวบุคคล การเรียนรู้โดยใช้กระบวนการคิดเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการใช้กระบวนการรู้คิดของผู้เรียน โดยนำความรู้เกี่ยวกับกระบวนการรู้คิดมาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน และยังมีความรู้เกี่ยวกับทักษะการคิดอีกจำนวนมากที่ผู้สอนสามารถนำมาสอนและฝึกฝนผู้เรียน เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดเชิงมโนทัศน์ การคิดเชิงระบบ การคิดไตร่ตรอง ทั้งนี้ทักษะกระบวนการคิดต่าง ๆ ดังกล่าวล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ทั้งสิ้น

          ส่วนการคิดเกี่ยวกับการคิดของตนเป็นความรู้ของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางปัญญาของตนและความสามารถที่จะควบคุมและประเมินการคิดของตนเอง การคิดเกี่ยวกับการคิดนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ความรู้ความเข้าใจและความสามารถในเรื่องนี้สามารถช่วยให้ผู้เรียนควบคุมกำกับกระบวนการทางปัญญาของตนได้ การพัฒนาความสามารถในการคิดเกี่ยวกับการคิดของตนหรืออภิปัญญา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สอนควรพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การให้ผู้เรียนวางแผนงาน และควบคุมกำกับตนเองในการทำงาน การให้เขียนอนุทินสะท้อนความคิดและประสบการณ์ต่าง ๆ การให้ประเมินผลงานและประเมินตนเอง.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก