การวิจัยและพัฒนา

          ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศสามารถยืนหยัดในการแข่งขันกับประเทศอื่นได้ คือ การวิจัยและพัฒนา  แต่หลายคนก็อาจจะยังสงสัยอยู่บ้าง ว่า การวิจัยและพัฒนาคืออะไร ในวันนี้เราจะมาหาคำตอบด้วยกัน  

          การวิจัยและพัฒนา หรือ research and development (R&D) นี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง  การศึกษาค้นคว้าเพื่อหาแนวทางการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ โดยอาศัยเทคโนโลยี นวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดเดิมให้ดีขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการก้าวต่อไปข้างหน้า และสามารถสนองความต้องการของตลาด ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หรือบริการให้สูงขึ้นโดยต้นทุนการผลิตคงเดิม เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่ราคาที่ต่ำลง ขณะที่คุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์และบริการคงเดิม และการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ให้น่าใช้ยิ่งขึ้น โดยมีราคาเท่าเดิมหรือถูกลงกว่าเดิม ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การวิจัยและพัฒนาเป็นปัจจัยและเป็นตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค

          ในเวทีการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าระดับโลก การวิจัยและพัฒนาจะเป็นปัจจัยชี้ขาดการได้เปรียบเสียเปรียบ ตลอดจนการแพ้ชนะของการแข่งขัน ซึ่งประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจย่อมจะให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนา และจัดสรรทรัพยากรเพื่อการนั้นในสัดส่วนที่สูงมาก ส่วนภาคเอกชนก็จะให้ความสนับสนุนต่องานดังกล่าวอย่างจริงจังเช่นกัน การวิจัยและพัฒนาในปัจจุบันจึงถือว่าเป็นปัจจัยหรือตัวแปรที่อยู่ภายในระบบ มิใช่ที่มาจากภายนอก

        จินดารัตน์  โพธิ์นอก