การวิเคราะห์โครงการ

          ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง  ตามปรกติเราต้องคิดก่อนว่า สิ่งนั้นสำคัญหรือไม่  เป็นเรื่องเร่งด่วนเพียงไหน มีค่าใช้จ่ายเท่าใด  หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงาน เราก็ต้องคิดหาเส้นทางที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายได้โดยสะดวก ปลอดภัย และประหยัด ที่สำคัญคือใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุดด้วย ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปรกติก็ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด  แล้วยิ่งหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก  ทุนจำนวนมหาศาล หรือเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมด้วยแล้ว จะต้องมีการคิดวิเคราะห์กันมากขึ้นอีกเท่าใด  จึงเป็นที่มาของศัพท์วันนี้

          การวิเคราะห์โครงการ หรือ project analysis  พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง  การศึกษาและวิเคราะห์โครงการลงทุนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์ในการนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุน ว่าโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดผลลัพธ์ มีความคุ้มค่าและเหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่ โดยจะมีการประเมินผลตอบแทนที่จะได้รับและต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดอายุของโครงการ การวิเคราะห์ความคุ้มค่า ของการลงทุนอาจทำการวิเคราะห์ได้ ๒ แนวทางหลัก คือ แนวทางแรก คือการวิเคราะห์โดยไม่ต้องปรับค่าเวลา เช่น  ระยะคืนทุน (payback period)  และอัตราผลตอบแทนการลงทุน (rate of return)  แต่แนวทางนี้ไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา  แนวทางที่ ๒ คือการวิเคราะห์โดยคำนึงถึงค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เช่น มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (net present value) อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit cost ratio) และอัตราผลตอบแทนภายในโครงการ (internal rate of return)  

          ทั้งนี้การวิเคราะห์โครงการของภาคธุรกิจเอกชนจะมุ่งเฉพาะผลตอบแทนและต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เกิดขึ้นโดยตรงจากโครงการ  ส่วนการวิเคราะห์โครงการลงทุนของภาครัฐ จะคำนึงถึงผลตอบแทน และต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เป็นผลกระทบของโครงการด้วย เช่น ผลประโยชน์ทางสังคม ต้นทุนทางสังคม และต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม

จินดารัตน์  โพธิ์นอก