การศึกษาแนวพุทธ ๑

          คณะกรรมการจัดทำพจานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายถึงแนวทางการศึกษาไว้หลายรูปแบบ แนวทางหนึ่งคือการศึกษาแนวพุทธ วันนี้จึงนำเรื่องราวของงการศึกษาแนวพุทธมาเสนอ การศึกษาแนวพุทธ หรือ Buddhist Education หมายถึง การจัดการศึกษาโดยนำหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธรรมชาติและลักษณะนิสัยของผู้เรียน ขนบธรรมเนียม ประเพณี สภาพการณ์ และสภาพแวดล้อม เน้นหลักบูรณาการและการสร้างดุลยภาพ ทั้งเนื้อหาสาระ การปฏิบัติ การทบทวน ปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการคิด จนเกิดปัญญารู้แจ้งรู้จริง การศึกษาแนวพุทธอาจเรียกชื่อตามหลักธรรมและแนวปฏิบัติที่สำคัญซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ เช่น การศึกษาตามแนวไตรสิกขา (education through the Threefold Training) การศึกษาตามแนวอริยสัจ ๔ (education through the Four Noble Truths) การศึกษาตามแนวธรรมวิจัย (education through the Dharma Research) ซึ่งการศึกษาตามแนวต่าง ๆ นี้สามารถใช้ได้ทั้งในการจัดการศึกษากระแสหลัก และการจัดการศึกษาทางเลือก

          การศึกษาตามแนวไตรสิกขา คือกระบวนการศึกษาที่ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อพัฒนาชีวิตบุคคลทั้งด้านกาย วาจา และจิตใจ กล่าวคือ (๑) พัฒนาด้วยการฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกายและวาจาให้มีศีล มีความสุจริตทางกาย วาจา และอาชีพ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาด้านจิตใจต่อไป (๒) พัฒนาด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจให้มีสมาธิ คุณธรรม คุณภาพ และสมรรถภาพในการเรียน การทำกิจกรรม การงาน และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาด้านปัญญาต่อไป (๓) พัฒนาปัญญาด้วยการฝึกฝนอบรมกระบวนการคิดให้เกิดความรู้ ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย อันเป็นความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาที่สาเหตุได้ถูกต้อง รู้เท่าทันโลกและชีวิตจนสามารถทำให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากการยึดติดในสิ่งทั้งหลายทำให้ดับกิเลสดับทุกข์ได้ กระบวนการพัฒนาทั้ง ๓ ด้านนี้ มีปฏิสัมพันธ์เชิงเหตุและผลสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ต่างเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกัน จึงควรใช้การศึกษาตามแนวไตรสิกขาเป็นพื้นฐานของการจัดการศึกษาทุกระดับชั้น.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก