การศึกษาแนวพุทธ ๒

          ครั้งก่อนได้เล่าถึงการศึกษาแนวพุทธ (Buddhist Education) แนวหนึ่งนั่นคือ การศึกษาตามแนวไตรสิกขา (education through the Threefold Training) วันนี้จึงขอนำการศึกษาแนวพุทธอีก ๒ แนวมาเสนอดังนี้

          คณะกรรมการจัดทำพจานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า การศึกษาตามแนวอริยสัจ ๔ (education through the Four Noble Truths) คือ กระบวนการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาที่สาเหตุตามขั้นตอนของอริยสัจ ๔ ซึ่งมี ๔ ขั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดังนี้ ๑) ขั้นการศึกษาตัวปัญหา (ทุกข์) โดยวิเคราะห์ให้เห็นปัญหาที่แท้จริงและปัจจัยแวดล้อมหรือแทรกซ้อน พร้อมทั้งผลของปัญหานั้น ๆ ๒) ขั้นการศึกษาหาสาเหตุของปัญหา (สมุทัย) โดยวิเคราะห์ให้เห็นสาเหตุที่แท้จริงและสาเหตุแวดล้อมของปัญหานั้น ๆ ๓) ขั้นการศึกษาหาความเป็นไปได้จากสมมุติฐานว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ แล้วกำหนดเป้าหมายของการแก้ปัญหา (นิโรธ) โดยวิเคราะห์การปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวปัญหากับสาเหตุของปัญหานั้น ๆ เพื่อให้เห็นทางออกของปัญหา ๔) ขั้นกระบวนการแก้ปัญหา (มรรค) ประกอบด้วย ความคิดเห็นและพฤติกรรมที่ชอบธรรมของมรรคมีองค์ ๘ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ) ผู้สอนควรนำปัญหาของผู้เรียน บุคคล สังคม บ้านเมือง มาเป็นตัวอย่าง โดยให้ผู้เรียนช่วยกันวิเคราะห์หาประเด็นปัญหาที่แท้จริง (ทุกข์) และสาเหตุของปัญหา (สมุทัย) นั้น รวมทั้งการเสนอผลที่ต้องการ (นิโรธ) และวิธีแก้ไขปัญหาตามสาเหตุ (มรรค) ส่วน การศึกษาตามแนวธรรมวิจัย (education through the Dharma Research) นั้น คือ กระบวนการศึกษาที่นำหลักการแห่งธรรมวิจัย คือ การเฟ้นธรรม (Dharma Investigation) ในโพชฌงค์ ๗ คือองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา มาปรับใช้ในกระบวนการศึกษา เช่น การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน หรือบทเรียนให้เหมาะสมกับธรรมชาติและลักษณะนิสัยของผู้เรียน และภูมิสังคม โดยศึกษาเก็บข้อมูลมาคัดเลือก จัดลำดับความสัมพันธ์ นำมาวิเคราะห์และวิจัยจนสามารถออกแบบหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมาย

จินดารัตน์ โพธิ์นอก