การออกเสียงคำที่มี ปร และ ปรม นำหน้า

           คำในภาษาไทยที่มีตัว ร ตาม ไม่ว่าคำนั้นจะมาจากภาษาบาลีสันสกฤตหรือไม่ก็ตาม มักจะทำให้ตัวหน้าออกเสียงเป็นเสียง ออ เสมอ เช่น จรลี ทรยศ ทรพี นรสิงห์ บรม หรดี อรทัย ฯลฯ จะมียกเว้นบ้าง ก็เช่น “กรณี” ท่านให้อ่านว่า “กะ-ระ-นี” แต่ก็มักมีผู้อ่านเป็น “กอ-ระ-นี” อยู่เสมอ และคำว่า “อรหันต์” ที่มี ต การันต์ ท่านให้อ่านว่า “อะ-ระ-หัน” เพื่อให้แตกต่างกับคำว่า “อรหัน” ซึ่งไม่มี ต การันต์ อันหมายถึง “สัตว์ในนิยาย ท่านว่ามี ๒ เท้า มีปีก มีหัวเหมือนคน” หรือหมายถึง “ผู้วิเศษ”

            นอกจากนั้นก็มีคำที่ขึ้นต้นด้วย “ปร-” ซึ่งนิยมอ่านกันเป็น “ปะ-ระ” ไม่ใช่ “ปอ-ระ” เช่น “ปรนัย” (ปะ-ระ-ไน) ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ว. วัตถุวิสัย” และที่คำว่า “วัตถุวิสัย” ท่านได้ให้บทนิยามไว้ว่า “ว. ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุโดยไม่เกี่ยวกับความคิดหรือความรู้สึก; เรียกการสอบแบบที่ผู้สอบมักไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นส่วนตัว เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตายตัวว่า การสอบแบบวัตถุวิสัย ปรนัย ก็ว่า (อ. objective).”

            อีกคำหนึ่งก็คือ “ปรวาที” (ปะ-ระ-วา-ที) ท่านให้ความหมายไว้ว่า “น. ผู้กล่าวถ้อยคำฝ่ายตอบหรือฝ่ายค้าน คู่กับ สกวาที.” คำว่า “สกวาที” (สะ-กะ-วา-ที) และ “ปรวาที” นี้มักเป็นคำที่พระท่านนิยมใช้ในเวลาเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ องค์ถามหรือองค์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เสนอ เรียกว่า “สกวาที” หรือ “สกวาทยาจารย์” (สะ-กะ-วา-ทะ-ยา-จาน) องค์ที่มีหน้าที่ตอบหรือค้าน เรียกว่า “ปรวาที” หรือ “ปรวาทยาจารย์” (ปะ-ระ-วา-ทะ-ยา-จาน)

            ส่วนคำว่า “ปรโลก” ซึ่งแปลว่า “โลกหน้า” หรือ “โลกอื่น” และ “ปรปักษ์” ซึ่งแปลว่า “ข้าศึก ศัตรู ฝ่ายตรงข้าม” หรือ “ฝ่ายอื่น” นั้น ท่านให้อ่านได้ ๒ อย่าง คือ ปะ-ระ-โลก หรือ ปอ-ระ-โลก และ ปะ-ระ-ปัก หรือ ปอ-ระ-ปัก

            ส่วนคำที่มี “ปรม” (ปะ-ระ-มะ) นำหน้า ท่านนิยมให้อ่านออกเสียงเป็น “ปะ-ระ-” ทั้งสิ้น ดังที่ท่านได้เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ดังนี้ คือ

            ๑. ปรมัตถ์ (ปะ-ระ-มัด) น. ประโยชน์อย่างยิ่ง ความจริงอันเป็นที่สุด; ชื่ออภิธรรมปิฎก. ว. ลึกซึ้งยากที่ปุถุชนจะเข้าใจได้ เช่น นี่เป็นเรื่องปรมัตถ์.

            ๒. ปรมาจารย์ (ปะ-ระ-มา-จาน) น. อาจารย์ผู้เป็นเอกหรือยอดเยี่ยมในทางวิชาใดวิชาหนึ่ง.

            ๓. ปรมาณู (ปะ-ระ-มา-นู) น. ส่วนของสารที่มีขนาดเล็กที่สุดจนไม่สามารถจะแยกย่อยได้อีกด้วยวิธีเคมี.

            ๔. ปรมาตมัน (ปะ-ระ-มาด-ตะ-มัน) น. อาตมันสูงสุด เป็นต้นกำเนิดและที่รวมของทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล.

            ๕. ปรมาภิไธย (ปะ-ระ-มา-พิ-ไท) น. ชื่อ (ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เช่น ในพระปรมาภิไธย ทรงลงพระปรมาภิไธย.

            ๖. ปรมาภิเษก (ปะ-ระ-มา-พิ-เสก) น. อภิเษกอย่างยิ่ง คือ การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า.

            ๗. ปรมินทร์ ปรเมนทร์ (ปะ-ระ-มิน ปะ-ระ-เมน) น. ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง.

            ๘. ปรเมศวร์ (ปะ-ระ-เมด) น. ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง คือ พระอิศวร.

            ๙. ปรเมษฐ์ (ปะ-ระ-เมด) น. ผู้สูงสุด คือ พระพรหม.

ผู้เขียน : .จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๑๒๐.