การอ่านคำสมาสบางคำ

          คำที่มีใช้อยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก มักจะมีรูปเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต บางทีก็เป็นคำเดิมของเขา บางคำเราก็บัญญัติขึ้นมาเอง โดยนำเอาคำบาลีและสันสกฤตมาบัญญัติใช้เป็นคำไทยตามกรรมวิธีแห่งไวยากรณ์บาลี แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยแล้ว บางทีก็มีปัญหาในการอ่าน เช่นคำว่า “สรรพากร” เราอ่านว่า “สัน-พา-กอน” คำว่า “สรรพาหาร” ซึ่งเป็นชื่อองค์การในสมัยหนึ่ง บัดนี้ได้เลิกไปแล้ว ก็อ่านว่า “สัน-พา-หาน” แต่คำว่า “กรรมาธิการ” ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้อ่านว่า “กำ-มา-ทิ-กาน” ทำไมไม่อ่านว่า “กัน-มา-ทิ-กาน”

          ในเรื่องเช่นนี้สำหรับผู้ที่เคยเรียนภาษาบาลีและสันสกฤตมาบ้าง ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะบางทีเขียนเป็นรูปสันสกฤต แต่อ่านตามเสียงในรูปภาษาบาลี เช่น

          คำว่า “ธรรมาสน์” (ที่สำหรับพระภิกษุสามเณรนั่งแสดงธรรม) ก็ไม่อ่านว่า “ทัน-มาด” ท่านให้อ่านว่า “ทำ-มาด” เพราะคำนี้ในรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมาสน”

          คำว่า “ธรรมันเตวาสิก” [อันเตวาสิก (ศิษย์) ผู้เรียนธรรมวินัย] ท่านให้อ่านว่า “ทำ-มัน-เต-วา-สิก” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมนฺเตวาสิก”

          คำว่า “ธรรมาธิปไตย” (การถือธรรมเป็นใหญ่ การถือความถูกต้องเป็นหลัก) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-ทิ-ปะ-ไต” เพราะรูปบาลีเป็น “ธมฺมาธิปเตยฺย”

          คำว่า “ธรรมาธิษฐาน” (มีธรรมเป็นที่ตั้ง ที่ยกหลักธรรมหรือสิ่งที่เป็นนามธรรมล้วน ๆ ขึ้นมาอ้างหรืออธิบาย) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-ทิด-ถาน” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมาธิฏฺฐาน”

          คำว่า “ธรรมานุสาร” (ความถูกตามธรรม ทางหรือวิธีแห่งความยุติธรรม ความระลึกตามธรรม) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-นุ-สาน” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมานุสาร”

          คำว่า “ธรรมาภิมุข” (หันหน้าเฉพาะธรรม มุ่งแต่ยุติธรรม) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-พิ-มุก” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมาภิมุข”

          คำว่า “ธรรมาภิสมัย” (การตรัสรู้ธรรม การสำเร็จมรรคผล) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-พิ-สะ-ไหม” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมาภิสมย”

          คำว่า “ธรรมายตนะ” (แดนคือธรรมารมณ์ แดนแห่งมนัสคือใจ ได้แก่อารมณ์ที่ใจรู้ หรือเรื่องที่ใจรู้) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-ยะ-ตะ-นะ” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมายตน”

          คำว่า “ธรรมารมณ์” (อารมณ์ที่ใจรู้ อารมณ์ที่เกิดทางใจ) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-รม” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมารมฺมณ”

          คำว่า “ธรรมิก” (ประกอบในธรรม ประพฤติเป็นธรรม ทรงธรรม เช่น ธรรมิกราช สหธรรมิก) ให้อ่านว่า “ทำ-มิก” หรือ “ทำ-มิ-กะ” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมิก”

          คำว่า “ธรรมานุธรรมปฏิบัติ” (การประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม การประพฤติความดีสมควรแก่ฐานะ) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-นุ-ทำ-มะ-ปะ-ติ-บัด” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ”

          คำว่า “ธรรมาธรรมสงคราม” (สงครามระหว่างธรรมกับอธรรม) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-ทำ-มะ-สง-คราม” เพราะรูปบาลีเป็น “ธมฺมาธมฺมสงฺคาม”

          คำว่า “ธรรมาภิมณฑ์” ซึ่งเป็นชื่อบรรดาศักดิ์ ของคุณหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ให้อ่านว่า “ทำ-มา-พิ-มน” เพราะถ้าเขียนเป็นรูปบาลีก็จะเป็น “ธมฺมาภิมณฺฑ”

          คำว่า “ธรรมาทิตย์” ให้อ่านว่า “ทำ-มา-ทิด” เพราะรูปบาลีจะเป็น “ธมฺมาทิจฺจ”

          คำสมาสที่มีคำว่า “กรรม” อยู่ข้างหน้า เมื่อเข้าสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วย อ หรือ อา เช่น “กรรมาธิการ กรรมาชีพ กรรมาชน” ก็ทำนองเดียวกันที่จะให้อ่านว่า “กำ” ไม่ใช่ “กัน” เพราะเหตุผลทำนองเดียวกับคำสมาสที่มีคำว่า “ธรรม” อยู่ข้างหน้า แล้วเข้าสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วย อ หรือ อา นั่นเอง

          คำว่า “กรรมาชีพ” (คำเรียกชนชั้นกรรมกรหรือลูกจ้างผู้หาเลี้ยงชีพด้วยค่าจ้างแรงงานว่า ชนกรรมาชีพ) ท่านให้อ่านว่า “กำ-มา-ชีบ” ไม่ใช่ “กัน-มา-ชีบ” เพราะรูปบาลีจะเป็น “กมฺมาชีว”

          คำว่า  “กรรมาชน” แม้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ มิได้เก็บไว้ แต่ก็มีผู้ใช้อยู่บ้างเหมือนกันก็ควรจะอ่านว่า “กำ-มา-ชน” ด้วย

          ข้อนี้ฉันใด คำว่า “กรรมาธิการ” อันหมายถึง “กรรมการใหญ่” ไม่ใช่กรรมการธรรมดา ท่านให้อ่านว่า “กำ-มา-ทิ-กาน” ก็ฉันนั้น เพราะคำนี้ ถ้าเขียนเป็นรูปบาลีก็จะเป็น “กมฺมาธิการ”

          ภาษาไทยจะว่าเป็นภาษาที่เรียนสนุกก็นับว่าสนุกมาก แต่ว่าผู้เรียนจะต้องมีความรู้ด้านภาษาบาลีและสันสกฤตอยู่บ้าง จึงจะสนุกมากเป็นพิเศษ เพราะจะทราบดีว่าทำไมคำนั้นจะต้องอ่านอย่างนั้น คำนี้จะต้องอ่านอย่างนี้ด้วย.

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาวิชาตรรกศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๒ กันยายน ๒๕๓๘