การเสียสัญชาติ

          เมื่อบุคคลใดได้สัญชาติมา ไม่ว่าโดยการเกิดหรือภายหลังการเกิดแล้วก็ตาม บุคคลนั้นอาจสูญเสียสัญชาติด้วยสาเหตุบางประการ ตามที่กฎหมายแห่งรัฐที่บุคคลดังกล่าวมีสัญชาติอยู่ได้เช่นเดียวกัน พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ว่าด้วยสาเหตุการเสียสัญชาติไทยไว้ในหมวด ๒ ผู้เขียนขอสรุปโดยสังเขปดังนี้

          ๑. การสละสัญชาติ ได้แก่ การขอสละสัญชาติด้วยเหตุต่าง ๆ เช่น กรณีที่หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยได้สมรสกับคนต่างด้าว ประสงค์จะสละสัญชาติไทย หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยด้วยการเป็นบุตรของผู้แปลงสัญชาติไทย เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ประสงค์จะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไป และประสงค์จะสละสัญชาติไทย หรือผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ และประสงค์จะสละสัญชาติไทย เป็นต้น

          ๒. การถอนสัญชาติ โดยใช้อำนาจถอนสัญชาติตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมาย เช่น หญิงต่างด้าวได้รับสัญชาติไทยโดยการสมรส แต่ปรากฏว่าการสมรสนั้นเป็นเท็จ หรือกระทำการใด ๆ กระทบกระเทือนความมั่นคงของรัฐ หรือเหยียดหยามประเทศชาติ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจถอนสัญชาติแก่ผู้ได้รับสัญชาติไทยในกรณีพิเศษเฉพาะราย เป็นต้น

          ๓. การได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ได้แก่ กรณีที่ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าว และอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว

          ๔. การแปลงสัญชาติ ได้แก่ กรณีที่ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทย และได้แปลงสัญชาติเป็นคนต่างด้าวแล้ว เพื่อขจัดปัญหาการถือสัญชาติซ้ำซ้อน จึงสมควรเสียสัญชาติไทย

          นอกจากนี้ บุคคลอาจสูญเสียสัญชาติด้วยสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแห่งการปกครอง ไปเป็นสัญชาติแห่งรัฐที่เข้าปกครองอาณาเขต.

รัตติกาล  ศรีอำไพ