การใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุลสำหรับราชสกุล

          ราชบัณฑิตยสถานได้รับคำถามจากประชาชนอยู่เสมอเกี่ยวกับการใช้คำว่า “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุลสำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายจากราชสกุลว่า มีระเบียบการใช้อย่างไร จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถานฉบับนี้จึงขอนำเรื่องความเป็นมาและระเบียบการใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุล ดังนี้

          เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “ประกาศเพิ่มเครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชตระกูล” ซึ่งมีความว่า มีพระราชดำริถึงนามสกุลที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้ที่สืบต่อจากราชตระกูลลงมาโดยสายต่าง ๆ นั้น ต่อไปภายหน้านามสกุลเหล่านี้อาจไปปะปนกับนามสกุลสามัญ จนไม่อาจทราบได้ว่า นามสกุลใดเป็นนามสกุลสำหรับราชตระกูล เพราะไม่มีเครื่องหมายเป็นที่สังเกต และเนื่องจากมีพระราชดำริที่จะดำรงนามสกุลสำหรับราชตระกูลให้ยืนยงอยู่ชั่วกัลปาวสาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า บรรดานามสกุลซึ่งได้ทรงขนานพระราชทานแก่ผู้สืบสายราชตระกูลนั้น ให้มีคำว่า “ณ กรุงเทพ” เพิ่มท้ายนามสกุลนั้น และห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มิได้สืบสายราชตระกูลใช้คำ “ณ กรุงเทพ” เป็นนามสกุลหรือต่อท้ายนามสกุลของตน แม้แต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษให้ใช้นามสกุลสำหรับราชตระกูลได้ จะเติมคำ “ณ กรุงเทพ” ลงด้วยไม่ได้

          ต่อมา ในวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ “ประกาศแก้เครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชสกุล” ความว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้สืบสายแต่ราชสกุลใช้คำว่า “ณ กรุงเทพ” ต่อท้ายนามสกุลนั้น มีพระราชดำริว่า คำว่า “กรุงเทพ” นั้น เป็นคำที่ใช้นำหน้านามมหานครซึ่งเป็นราชธานี เช่น ใช้ว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา” เป็นนามของพระนครศรีอยุธยาเมื่อครั้งเป็นราชธานี และใช้คำว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” เป็นนามของพระมหานครราชธานีในปัจจุบัน ดังนั้น คำว่า “กรุงเทพ” จึงมีความหมายถึงราชธานี ๒ แห่ง โดยไม่แน่ชัดว่าเป็นแห่งใด และเนื่องจากมีพระราชดำริว่า พระบรมราชวงศ์นี้เดิมเป็นสกุลอันมหาศาลที่มีมาตั้งแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนจาก “ณ กรุงเทพ” เป็น “ณ อยุธยา” ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งตรงกับวันมหาจักรี

          ในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า ในขณะนั้นการออกพระนามหม่อมเจ้าโดยใช้พระนามของพระบิดาต่อท้ายเพื่อให้ทราบว่าเป็นหม่อมเจ้าในกรมใดหรือพระองค์ใด นั้น เมื่อได้มีการพระราชทานนามสกุลสำหรับเจ้าต่างกรมและพระองค์เจ้าแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้นามสกุลต่อนามหม่อมเจ้าแทนการใช้นามกรมเช่นแต่ก่อน แต่หม่อมเจ้าซึ่งทรงสถาปนาให้มีพระเกียรติยศเป็นพระองค์เจ้าไม่ต้องใช้นามสกุลต่อท้ายพระนาม และทรงระบุว่า สร้อย “ณ อยุธยา” นั้น ถ้าเป็นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ไม่ต้องใช้เพราะมีคำแสดงศักดิ์ในราชตระกูลปรากฏอยู่แล้ว

          ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ผู้ที่มีสกุลยศตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไปไม่ต้องใช้นามสกุลต่อท้ายพระนาม ส่วนผู้ที่มีสกุลยศหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงใช้นามสกุลต่อท้ายนาม โดยมิต้องมีสร้อย “ณ อยุธยา” สำหรับผู้ที่สืบสายจากราชสกุลที่มิได้มีสกุลยศเป็นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ให้ใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุล นอกจากนี้ สตรีสามัญซึ่งสมรสกับผู้ที่สืบสายจากราชสกุลทั้งที่มีสกุลยศและไม่มีสกุลยศ ต้องใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุลด้วย อนึ่ง การใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุลนั้น ใช้สำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายจากราชสกุลฝ่ายบุรุษเท่านั้น ส่วนทายาทของสายราชสกุลที่เป็นสตรีนำนามราชสกุลของตนมาใช้ได้ แต่จะใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ไม่ได้.

 

ผู้เขียน :  นางสาวกนกวลี  ชูชัยยะ
ที่มา :   จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗