การได้สัญชาติ

          การได้สัญชาติของบุคคลใดนั้น เป็นไปตามหลักการเบื้องต้น กล่าวคือ ประการแรก บุคคลหนึ่งควรมีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง เพราะการเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการปกครอง

          ประการที่ ๒ บุคคลคนหนึ่งไม่ควรมีหลายสัญชาติพร้อมกัน เนื่องจากจะทำให้การควบคุมสถานะของบุคคลเป็นไปด้วยความยากลำบาก และอาจเป็นผลเสียทางด้านการเมืองแก่รัฐที่เกี่ยวข้อง

          ประการที่ ๓ รัฐไม่ควรบังคับให้บุคคลถือสัญชาติของตน เว้นแต่เป็นการให้สัญชาติตามหลักสายโลหิต โดยบุคคลในครอบครัวเดียวกันสมควรถือสัญชาติเดียวกัน

          การพิจารณาการได้สัญชาติของบุคคลใดนั้น  ต้องจำแนกช่วงเวลาด้วยเนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กล่าวคือ

          (๑) การได้สัญชาติโดยการเกิด การกำหนดหลักเกณฑ์อาจคำนึงหลักการตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดนั้น ได้แก่ หลักดินแดน คือ การให้สัญชาติตามดินแดนที่เกิดของบุคคลนั้น โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของบุพการีของผู้เกิด และ หลักสืบสายโลหิต คือการให้สัญชาติโดยคำนึงถึงความผูกพันทางสายโลหิตของบุพการีเป็นหลัก เช่นผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

          (๒) การได้สัญชาติภายหลังการเกิด มาจากเหตุ ๔ ประการ ดังต่อไปนี้ ๑. การแปลงสัญชาติ มาถือสัญชาติใหม่ของรัฐใดรัฐหนึ่ง และรัฐนั้นได้ยินยอมตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายของรัฐนั้น  ๒. การสมรส เช่น หญิงที่เป็นคนต่างด้าว สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย สามารถยื่นคำขอสัญชาติไทยได้ ๓. การกลับคืนสัญชาติ เช่น ได้สละสัญชาติเนื่องจากสมรสกับคนต่างด้าว ต่อมาได้ขาดจากการสมรส ๔. การเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแห่งรัฐ เป็นผลให้ประชากรต้องเสียสัญชาติเดิม เปลี่ยนเป็นสัญชาติใหม่ของรัฐที่เข้าปกครองอาณาเขตนั้น.

รัตติกาล  ศรีอำไพ