การ กับ การณ์

          บทความนี้ขอนำความหมายของ “การ” กับ “การณ์” มาเสนอต่อท่านผู้อ่าน

          การ ความหมายแรก หมายถึง งาน สิ่งหรือเรื่องที่ทํา มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง ธุระ หน้าที่ เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน ความหมายที่ ๒ หมายถึง ผู้ทำ มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคำบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ ถ้าอยู่หลังคำอื่นที่ไม่ใช่คำศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ ความหมายที่ ๓ ใช้เป็นคำประกอบท้ายสมาสคำบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือนความหมายแรก เช่น ราชการ พาณิชยการ

          การณ์ หมายถึง เหตุ เค้า มูล เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ สังเกตการณ์

          ต่อไปนี้ มารู้จักคำบางคำที่มีคำว่า “การ” และ “การณ์” ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนได้

          รู้เท่าไม่ถึงการ หมายถึง รู้ไม่ถึงว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ

          รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หมายถึง เขลา คาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เช่น รับฝากของโจรไว้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าของนั้นเป็นของโจร

          อุดมการณ์ หมายถึง หลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

          เหตุการณ์ หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้น

          สังเกตการณ์ หมายถึง เฝ้าดูหรือศึกษาเหตุการณ์หรือเรื่องราวพอรู้เรื่อง

          รักษาการ หมายถึง ปฏิบัติหน้าที่แทนชั่วคราว เช่น รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดี

          รักษาการณ์ เป็นกริยา หมายถึง เฝ้าดูแลเหตุการณ์ เช่น มีทหารรักษาการณ์อยู่ตลอดเวลา เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ที่เฝ้าดูแลเหตุการณ์ เช่น ทหารรักษาการณ์ ยามรักษาการณ์

         สำรวย นักการเรียน