กาลาปาโกส ดินแดนสุดขอบโลก

          เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวออกมาว่าได้เกิดการปะทุของภูเขาไฟขนาดใหญ่ขึ้นบนหมู่เกาะกาลาปาโกส (Galápagos Islands) การปะทุของภูเขาไฟบนเกาะอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสัตว์และพืชพรรณต่าง ๆ บนเกาะนี้   เหตุที่หมู่เกาะนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างมากก็เนื่องจากหมู่เกาะกาลาปาโกสเป็นเกาะที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาอย่างมากหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์สากล ภูมิภาคอเมริกา  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหมู่เกาะนี้ว่า  หมู่เกาะนี้เป็นหมู่เกาะภูเขาไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก  เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศเอกวาดอร์ ประกอบด้วยเกาะขนาดใหญ่รวม ๑๕ เกาะ และเกาะขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก  มีชื่อเสียงเพราะเป็นที่อยู่อาศัยของเต่ายักษ์  สัตว์และพืชหลายชนิดที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก  ดังนั้นการที่ภูเขาไฟบนหมู่เกาะเกิดการปะทุขึ้นทำให้ชาวโลกหวั่นเกรงว่าอาจทำให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ได้  และด้วยเหตุที่หมู่เกาะกาลาปาโกสตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว จึงเรียกกันว่า “ดินแดนสุดขอบโลก”

         ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ได้เดินทางไปศึกษาชีวิตสัตว์ของหมู่เกาะใน ค.ศ. ๑๘๓๕ และพบว่าเต่ายักษ์ในแต่ละเกาะเป็นเต่าต่างชนิดกัน นอกจากนี้ ครึ่งหนึ่งของนกและต้นไม้ประมาณ ๑ ใน ๓ ของปลาตามชายฝั่งและสัตว์เลื้อยคลานเกือบทั้งหมดล้วนเป็นชนิดที่ไม่พบในส่วนอื่นของโลก  เกือบ ๓๐๐ ปีหลังการค้นพบหมู่เกาะนี้ไม่มีประเทศใดอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของ  จนกระทั่งในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๒ หมู่เกาะกาลาปาโกสจึงถูกผนวกเข้ากับเอกวาดอร์  ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เอกวาดอร์ได้ประกาศให้หมู่เกาะกาลาปาโกสเป็นอุทยานแห่งชาติและเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า  ปัจจุบันหมู่เกาะกาลาปาโกสเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิชาการ แต่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังหมู่เกาะนี้ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ และใน ค.ศ. ๑๙๗๘ องค์การยูเนสโก (UNESCO)  ได้ประกาศให้หมู่เกาะกาลาปาโกสทั้งหมดเป็นมรกดโลก  แต่ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมของหมู่เกาะก็ถูกทำลายไม่เพียงเพราะการปะทุของภูขาไฟ แต่ยังถูกทำลายอย่างต่อเนื่องด้วยน้ำมือมนุษย์ ถ้าหากมนุษย์ยังไม่หยุดทำลายสภาพแวดล้อมบนเกาะ  มรดกโลกที่มีคุณค่าคงหายไปอีกหนึ่งแห่งอย่างแน่นอน.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์