กินนร กินรี

          ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องมีการพูดถึงกินนรกับกินรี พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า กินนรกับกินรี เป็นอมนุษย์ในเทพนิยาย กินนรเป็นเพศชาย และกินรีเป็นเพศหญิง แต่ก็มักเรียกปน ๆ กันไป กินนร หมายถึงทั้ง ๒ เพศก็มี กินนรกับกินรีอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ และอาจอยู่กันเป็นบ้านเมือง มีกษัตริย์ปกครอง เช่น กินนรกับกินรีในบทละครเรื่อง นางมโนห์รา-พระสุธน ก็บอกว่ามีบ้านเมืองของกินนรอยู่เชิงเขาไกรลาส

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า กินนร มี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหน ก็ใส่ปีกใส่หางบินไป กินนรชนิดแรกนั้น เรามักเห็นกันบ่อย ๆ ในภาพวาดและรูปปั้น เช่นที่อยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นรูปครึ่งคนครึ่งนก ส่วนที่มีรูปเป็นมนุษย์และใส่ปีกหางบินได้นั้น สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๓ กล่าวว่า ตรงกับรูปสลักที่มหาสถูปโบโรบุโดในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย นางมโนห์ราในบทละครเก่าแก่ของไทยก็อยู่ในกินนรจำพวกที่ ๒ นี้ด้วย เมื่อนางจะถูกบูชายัญก็ร้องขอปีกหางมาสวมใส่ เพื่อรำถวายเทวดาเป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อได้ปีกหางแล้วก็บินหนีกลับไปนครของนางที่ป่าหิมพานต์

          ในเรื่องของอินเดีย กล่าวว่าพวกกินนรนั้น ถ้าได้คู่สู่สมเป็นสามีภรรยากันแล้วย่อมมีความรักใคร่ซื่อตรงต่อกันเสมอ เมื่อกวีอินเดียกล่าวถึงความรักระหว่างหญิงชายที่บริสุทธิ์ซื่อตรงต่อกัน ก็มักยกเอาความรักของกินนรขึ้นมาเปรียบ วรรณคดีไทยที่มีชื่อของกินนรกินรีปรากฏอยู่เสมอมีอยู่หลายเรื่อง ที่เป็นเรื่องของกินนรโดยตรง เช่น บทละครเรื่องมโนห์รา และที่เป็นส่วนหนึ่งของบทบรรยายและบทพรรณนาก็มีมากในวรรณกรรมต่าง ๆ เช่นในไตรภูมิโลกวินิจฉัย ของพระยาธรรมปรีชา เรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช.

อิสริยา เลาหตีรานนท์