กิน

          คนเราใช้ปากในการกินอาหาร พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยาม “กิน” ว่า เป็นกริยาแปลว่า “เคี้ยว เช่น กินหมาก เคี้ยวกลืน เช่น กินข้าว ดื่ม เช่น กินน้ำ ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ; โดยปริยายหมายความว่า เปลือง เช่น กินเงิน กินเวลา ทําให้หมดเปลือง เช่น รถกินน้ำมันหลอดไฟชนิดนี้กินไฟมาก; รับเอา เช่น กินสินบน หารายได้โดยไม่สุจริต เช่น กินจอบกินเสียม; ชนะในการพนันบางอย่าง”

          รับประทานเป็นคำสุภาพใช้แทนคำกริยากิน เช่น รับประทานข้าว แต่จะไม่ใช้คำรับประทานนี้แทนความหมายโดยนัยอื่น ๆ ของคำกิน

          มีภาษิต คำพังเพย และสำนวนไทยเกี่ยวกับ “กิน” อาทิ กินแกลบกินรำ โง่ เช่น ฉันไม่ได้กินแกลบกินรำนี่ จะได้ไม่รู้เท่าทันคุณ กินปูนร้อนท้อง ทําอาการมีพิรุธขึ้นเอง กินที่ลับไขที่แจ้ง เปิดเผยเรื่องที่ทํากันในที่ลับ กินตามน้ำ รับของสมนาคุณที่เขาเอามาให้โดยไม่ได้เรียกร้อง (มักใช้แก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ) กินน้ำตาต่างข้าว ร้องไห้เศร้าโศกจนไม่เป็นอันกิน กินน้ำใต้ศอก จำต้องยอมเป็นรองเขา หมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง กินน้ำไม่เผื่อแล้ง มีอะไรใช้หมดทันทีไม่คิดถึงวันข้างหน้า กินบนเรือนขี้บนหลังคา เนรคุณ กินลมกินแล้ง ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย  กินเศษกินเลย กินกําไร ยักเอาเพียงบางส่วนที่มีจํานวนเล็กน้อยไว้ กินเหมือนหมู อยู่เหมือนหมา  เละเทะไม่มีระเบียบ  

          ถ้าประเภทที่เกลียดคนอื่นเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา เรียกว่า เกลียดปลาไหล กินน้ำแกง กรณีที่รู้ดีอยู่แล้วแสร้งทําเป็นไม่รู้ เรียก กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง ค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ