ก่อ

          คำว่า ก่อ เป็นคำที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีความหมายหลายอย่าง เช่น เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง ทําให้เกิดขึ้น มีขึ้น หรือเป็นรูปขึ้น เมื่อเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง งอ ในคำว่า งอก่อ หรือ งอก่องอขิง เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง ปลาช่อน

          ในทางพฤกษศาสตร์ ก่อ หมายถึงชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Fagaceae ซึ่งมีมากถึง ๘ สกุล จำนวน ๘๐๐-๙๐๐ ชนิด ก่อจัดเป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์มากแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก คณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช ราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายถึงประโยชน์ของก่อไว้อย่างละเอียดในหนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ ผู้เขียนได้สรุปความมาเสนอดังนี้

           เนื้อไม้ของก่อมีความแข็งทนทานและมีลายสวยงาม ใช้ในการก่อสร้าง ต่อเรือ ทำถังเก็บสุรา ใช้ประกอบเครื่องเรือนชั้นดี แต่ในประเทศไทยไม่นิยมใช้ในการก่อสร้าง เพราะไม้ก่อของไทยหลังจากตัดแล้วมักจะแตกกลางเนื่องจากมีความชื้นสูง ผลของไม้ก่อทุกชนิดเป็นอาหารของสัตว์ป่า ผลก่อในสกุล Castanea  หลายชนิดมีรสชาติดี ที่นิยมกินกันเป็นอาหารและซื้อขายในราคาแพง คือ เกาลัด หรือ เชสต์นัต (chestnut) ปุ่มหูด (gall) ที่เกิดจากแมลงเจาะใบหรือกิ่งอ่อนของก่อ ใช้เป็นยาฝาดสมาน เรียกว่า ลูกเบญกานี เปลือกของก่อมีแทนนินสูง ใช้ในการฟอกย้อมหนังได้ดี ทางภาคเหนือของไทยมีการทำเปลือกก่อสีเสียดเป็นสินค้ากันมาก เปลือกก่อบางชนิดหนามาก เช่น ชนิด Quercus suber  L. ที่เป็นพรรณไม้แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เรียกกันว่า ไม้ก๊อก ใช้ทำจุกชนิดคุณภาพดี ทำหมวกกันแดด และพื้นรองเท้า.

อารี พลดี