ขบวนการผู้วิเศษ
 
          ในช่วงที่สังคมไม่อาจให้ความเชื่อมั่นแก่สมาชิกได้  ผู้คนในสังคมต่างพยายามหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวปรากฏอยู่เสมอในประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นของชนชาติใดก็ตาม  ขึ้นอยู่กับวิธีการหาทางออกของแต่ละชนชาติ  ในทางสังคมวิทยาจึงมีผู้สนใจปรากฏการณ์ดังกล่าว  และมีคำที่ใช้แสดงถึงความเชื่อของผู้คนไว้น่าสนใจ จึงขอนำมาเสนอในวันนี้

          คำว่า ขบวนการผู้วิเศษ หรือ ลัทธิสหัสวรรษนิยม  เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า millenarianism  ซึ่งพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “ลัทธิสหัสวรรษนิยม” มาจากความเชื่อในศาสนาคริสต์ที่ว่าพระผู้ไถ่บาป หรือเมสสิยาห์จะกลับคืนมาช่วยมวลมนุษย์ทุก ๆ ระยะเวลาสหัสวรรษ ความเชื่อนี้ได้ก่อให้เกิดขบวนการทางสังคมมากมายในหมู่คนจน ในทางสังคมวิทยา ความเชื่อว่าจะมีผู้วิเศษอุบัติมาช่วยเหลือพวกตนสามารถทำให้เกิดพลังเคลื่อนไหวของผู้คนจำนวนมาก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยวิธีการพิสดาร ลัทธิหรือขบวนการนี้อาจเกิดขึ้นได้ในทุกศาสนา แต่มักจะเกิดขึ้นนอกศาสนจักร ลัทธิหรือขบวนการนี้อาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป แต่ปรกติจะเกิดขึ้นจากความไม่พอใจสถานภาพที่พวกตนเป็นอยู่ และหวังจะให้มีผู้วิเศษมาช่วยสร้างระเบียบสังคมเสียใหม่ เมื่อเกิดขบวนการผู้วิเศษขึ้นในสังคมแล้ว ก็มักยากที่จะประนีประนอม เพราะผู้คลั่งไคล้ในลัทธิหรือขบวนการนี้มักสู้อย่างไม่กลัวตาย

          ตัวอย่างของขบวนการผู้วิเศษสมัยใหม่ที่น่าสนใจ คือ “ลัทธิเรือวิเศษ”  หรือ cargo cult  ซึ่งเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในหมู่เกาะเมลานีเซีย  ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑  ของชาวเกาะเมลานีเซียที่ว่า บรรพบุรุษของพวกตนจะเดินทางกลับคืนสู่โลกนี้อีกครั้งด้วยเรือวิเศษ ซึ่งบรรทุกสินค้ามีค่ามหาศาลมาด้วย บรรพบุรุษผู้วิเศษเหล่านั้นจะมาช่วยปลดแอกให้พ้นจากการเป็นอาณานิคมของชนผิวขาว และช่วยสร้างสันติสุขถาวรให้พวกตนโดยถ้วนหน้า  และ “ขบวนการผู้มีบุญ” ที่เกิดขึ้นหลายแห่งในภาคอีสานของประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๕.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก