ขวัญข้าว

          ขวัญ เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คนไทยเชื่อกันว่าถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล สุขสบาย จิตใจมั่นคง ประเพณีการทำขวัญจึงสืบทอดกันมาในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย ดังปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ เช่น พิธีทำขวัญนาค พิธีทำขวัญเรือน พิธีเรียกขวัญคู่บ่าวสาว เพลงกล่อมเด็กเรียกขวัญ

          เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การมีประเพณีทำขวัญพืชพันธุ์จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำนาและการเพาะปลูก ในระดับประเพณีหลวงมีพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนในระดับประเพณีราษฎร์มีการทำขวัญข้าวเพื่อเชื้อเชิญขวัญให้มาอยู่ประจำต้นข้าว  ทำให้มีลำต้นแข็งแรง ออกรวงงาม เมื่อข้าวขึ้นยุ้งแล้วจะมีการทำบุญทำขวัญข้าวเปลือก หรือที่เรียกว่า บุญคูณลาน เพื่อระลึกถึงบุญคุณข้าวเปลือกอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะคนไทยมองต้นข้าวเป็นสิ่งที่มีชีวิต มีจิตใจ มีความรู้สึก

          บททำขวัญในพิธีทำขวัญข้าวใช้ถ้อยคำที่สุภาพอ่อนโยน ละเอียดประณีต มีส่วนช่วยโน้มนำจิตใจของเยาวชนไทยรุ่นหลังให้รู้จักเคารพและกตัญญูต่อธรรมชาติ การมีส่วนร่วมในพิธีทำบุญทำขวัญข้าวของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเป็นการพบปะสังสรรค์ ทำให้เกิดความสามัคคีและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างคนในท้องถิ่นนั้น ๆ  การทำขวัญข้าวจึงเป็นประเพณีที่ไม่ควรปล่อยให้สูญหายไปจากสังคมไทย เนื่องเพราะการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม  ตลอดจนถูกกลืนโดยวัฒนธรรมไอทีหรือการเลียนแบบวัฒนธรรมจากโลกตะวันตกที่เยาวชนไทยรับเข้ามาอย่างชื่นชม แต่ไม่ทันตระหนักหรือระมัดระวัง  นอกจากการอนุรักษ์แล้วหากได้มีการเผยแพร่ประเพณีทำขวัญข้าวให้ทั่วโลกรู้จักอย่างลึกซึ้งมากกว่าการมองวัฒนธรรมในรูปสินค้า อาจยกระดับคุณค่าของข้าวไทยไม่ให้เป็นเพียงสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศหรือเป็นเพียงเมล็ดธัญพืชที่ให้คาร์โบไฮเดรตและพลังงานเพียงเท่านั้น แต่ทว่าข้าวไทยมีคุณค่าและมีความหมายเชิงวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติไทยอีกด้วย.

รัตติกาล ศรีอำไพ