ขั้นการนอนหลับ

          พจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบาย “การนอนหลับ” ไว้ว่าเป็นภาวะจำเป็นของการดำรงชีวิตของมนุษย์ เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำวัน เป็นสภาวะที่ภายในร่างกายของมนุษย์จะสงบ และเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นภายนอกมากกว่าขณะตื่น ระยะของการนอนหลับในทางจิตวิทยาเรียกว่า “ขั้นการนอนหลับ” หรือ sleep stages แบ่งได้เป็น ๒ ระยะ ดังนี้

          การนอนหลับระยะที่ ๑” หรือการนอนหลับชนิดไม่มีการกลอกของลูกตาอย่างรวดเร็ว แบ่งย่อยได้เป็น ๔ ขั้น คือ การนอนขั้นที่ ๑ เป็นระยะหลับที่ตื้นที่สุด เกิดขึ้นประมาณร้อยละ ๕ ของเวลานอนทั้งหมด การนอนขั้นที่ ๒ เป็นระยะหลับที่ลึกกว่าระดับแรก เกิดขึ้นประมาณร้อยละ ๕๐ ของเวลานอนทั้งหมด การนอนขั้นที่ ๓ เป็นระยะหลับที่ลึกลงอีก เกิดขึ้นประมาณร้อยละ ๒๐ ของเวลานอนทั้งหมด และการนอนขั้นที่ ๔ เป็นระยะหลับที่ลึกที่สุด การหลับในระยะนี้จะพบมากในการนอนครึ่งแรกของการนอนในคนปรกติ

          การนอนหลับระยะที่ ๒” คือ การนอนหลับชนิดมีการกลอกของลูกตาอย่างรวดเร็ว เป็นระยะการนอนหลับที่มีการกลอกของลูกตาอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้อลายทั่วไปจะมีการผ่อนคลายมากที่สุด การปลุกให้ตื่นจากระยะหลับนี้จะจำความฝันได้ ในทางจิตวิทยากล่าวถึงการฝันไว้ ๒ ลักษณะ คือ “ฝันกลางวัน” หรือ daydream เป็นภาวะทางจิตประเภทหนึ่งที่กระทำโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว มีลักษณะอาการเพ้อฝัน ใจลอย ไม่มีจุดมุ่งหมาย มีความสุขกับสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในชีวิต และ “ฝันยามตื่น” หรือ waking dream เป็นภาวะประสาทหลอนซึ่งเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการนอน มักเกิดขึ้นขณะที่กำลังจะตื่น ขณะที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ก็เก็บคำที่เกี่ยวกับความฝันไว้ด้วย ได้แก่ คำว่า “ฝันกลางวัน” เป็นภาษาปาก หมายถึง นึกฝันถึงสิ่งที่ไม่อาจเป็นจริงได้ คำว่า “ฝันเปียก” คือ การหลั่งน้ำกามในขณะนอนหลับและฝัน และคำว่า “ฝันเฟื่อง” หมายถึง คิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์.

อารยา ถิรมงคลจิต