ขิงก็รา ข่าก็แรง

          ในภาษาไทย ขิงก็รา ข่าก็แรง เป็นสำนวนที่หลายคนรู้จักดี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า ต่างก็จัดจ้านพอ ๆ กัน หรือ ต่างก็มีอารมณ์ร้อนพอ ๆ กัน หรือ ต่างไม่ยอมลดละกัน

          ในทางพฤกษศาสตร์ ขิง และ ข่า จัดเป็นไม้ล้มลุก ในวงศ์ Zingiberaceae เหมือนกัน แต่เป็นคนละสกุลกัน ทั้งขิงและข่ามิใช่พรรณไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยตามธรรมชาติ แต่เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดไม่แน่ชัด ชาวกะเหรี่ยงแถบแม่ฮ่องสอนจะเรียกขิงว่า สะเอ และเรียกข่าว่า เสะเออเคย หรือ สะเอเชย ทั้งขิงและข่ามีลักษณะของลำต้นที่คล้ายกัน คือ มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า และมีลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นขึ้นเป็นกออยู่เหนือดิน ส่วนลักษณะของช่อดอกจะแตกต่างกัน ขิงมีช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า ดอกสีเหลืองอ่อน ข่ามีช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกจากยอด และดอกจะมีสีขาว สำหรับผลของขิงและข่ามีลักษณะอย่างไรนั้น หลายคนอาจยังไม่เคยเห็น ส่วนใหญ่จะเห็นลักษณะของลำต้นที่เรียกกันว่าแง่งหรือเหง้า คณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายเรื่องผลของพืชทั้ง ๒ ชนิดว่า มีลักษณะเป็นผลแบบผลแห้งแตก คือเมื่อแก่ผนังผล (pericarp) มักจะแห้งแล้วแตก ทำให้เมล็ดหลุดร่วงออกไปจากผล เหง้าของขิงและข่าต่างก็มีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ดร้อน จึงใช้เป็นพืชสมุนไพรและเป็นเครื่องเทศนำไปประกอบอาหารและแต่งกลิ่นอาหาร ยังมีพรรณไม้ในสกุลเดียวกับขิงอีกหลายชนิด เช่น ขิงดา ขิงลำปี ทั้ง ๒ ชนิดมีการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยตามธรรมชาติ โดยขิงดามีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนขิงลำปีมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้.

อารี พลดี