คตินิยมบรรษัท

               พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า คตินิยมบรรษัท (corporatism) หมายถึง  รูปแบบหนึ่งของการจัดองค์การทางสังคมซึ่งกลุ่มต่าง ๆ เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพ บริษัทธุรกิจ กลุ่มกดดันทางการเมือง กลุ่มล็อบบี องค์กรอาสาสมัคร เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หรือกลุ่มเหล่านี้ร่วมกับรัฐเป็นผู้ตัดสินใจ   ปัจเจกบุคคลจะร่วมในการตัดสินใจได้โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ   หลักคตินิยมบรรษัทนี้แตกต่างกับการตัดสินใจที่ผ่านกลไกตลาด ซึ่งแต่ละคนต่างก็เลือกสินค้าตามรสนิยมตนเอง  ในระดับการเมือง คตินิยมบรรษัทแตกต่างกับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบเดิมซึ่งการตัดสินใจทางการเมืองนั้นจะกระทำโดยรัฐบาลในฐานะที่เป็นตัวแทนโดยตรงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
               มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่กำลังเคลื่อนตัวไปสู่คตินิยมบรรษัทมากขึ้น  ภายใต้คตินิยมบรรษัทเช่นนี้ รัฐบาลจะตัดสินใจหลังจากปรึกษาหารือและเจรจาต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในแบบไตรภาคี ได้แก่ กลุ่มการเมือง สหภาพแรงงาน สมาคมนายจ้าง  มีข้อสังเกตทางวิชาการต่อไปว่า นักการเมืองยินยอมให้องค์กรของกลุ่มต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลได้ ก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ควบคุมสมาชิกของตนเป็นการตอบแทน   ตัวอย่างที่เด่นชัดตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ “สัญญาประชาคม” ระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับขบวนการสหภาพแรงงานในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐   รัฐบาลต้องปรึกษาหารือกับสมัชชาสหภาพกรรมกร (Trade Union Congress) ในการกำหนดนโยบายด้านกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการและการจ้างงาน   ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สมัชชาสหภาพกรรมกรควบคุมค่าจ้างแรงงานให้คงที่ไว้.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗