ครัว

          นับแต่อดีต คนไทยให้ความสำคัญแก่ ครัว เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าเกือบทุกครอบครัวต้องมีห้องครัวอยู่ในบ้าน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า ครัว หมายถึง โรง เรือน หรือห้องสําหรับทํากับข้าวของกิน และเรียกผู้ที่อยู่กินร่วมครัวกัน คำว่า ครัวเรือน หมายถึง ครอบครัวที่อยู่ในบ้านเรือนเดียวกัน

          คำที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างคำว่า แม่ครัว หมายถึง ผู้หญิงที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับครัว เช่น แม่ครัวหัวป่าก์ ในหนังสือภาษิต สำนวนไทย ๔ ภาค อธิบายสำนวน แม่ครัวหัวป่าก์ ว่าเป็นชื่อตำราอาหารเล่มแรกของคนไทย ผู้แต่งตำราเล่มนี้คือ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ซึ่งท่านเป็นภริยาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ หรือ พร บุนนาค ตำรานี้เป็นตำราที่มีชื่อเสียงมาก เมื่อพูดถึงแม่ครัวผู้มีฝีมือ จึงมักจะเรียกกันว่า แม่ครัวหัวป่าก์ และมีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า ป่าก์ ในชื่อหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ น่าจะมาจากคำว่า ปาก ในภาษาบาลีและสันสกฤตที่แปลว่า การหุงต้ม

          คำว่า หัวป่าก์ นอกจากจะปรากฏอยู่ในคำว่า แม่ครัวหัวป่าก์ แล้วยังมีความคำว่า หัวป่าก์พ่อครัว ซึ่งปรากฏในหมายรับสั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “อนึ่งให้หัวป่าก์พ่อครัวรับเครื่องน้ำชาต่อวิเสท หมากพลู ต้มน้ำถวายพระสงฆ์ กลางวันกลางคืน ให้พอสวดพอฉันทั้ง ๔ ทิศ”

          ครัว ในภาษาถิ่นพายัพ (ออกเสียงว่า คัว) หมายถึง ของ สิ่งของ เครื่องใช้ เช่น พ่อค้าแม่ค้าขายครัว และหมายถึง ทรัพย์มรดก เช่น ลูกหล้าครัวรอม (ฮอม) คือ ลูกคนสุดท้องจะได้รับทรัพย์มรดกมากกว่าผู้อื่น ขายครัว มายาตัว คือ ขายทรัพย์มรดกเพื่อมารักษาตัว หรือ ครัวทาน (ออกเสียงว่า คัวตาน) คือ ของถวายพระ.

อิสริยา เลาหตีรานนท์