ครำ กับ คราม

          คำว่า ครำ นอกจากจะมีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า น้ำเสียที่ขังอยู่ในพื้นดินที่เป็นแอ่งเช่นใต้ถุนครัว ในท่อระบายน้ำเสีย ที่เรียกว่า นํ้าครํา ไขเสนียด แล้ว ครำยังเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งในวงศ์ Euphorbiaceae คณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความหมายโดยย่อไว้ดังนี้ ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาล แตกล่อนเป็นแผ่น ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปใบหอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกสีเขียวอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม เมล็ดรูปครึ่งวงกลม สีแดง” ยังมีพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีเสียงของคำใกล้เคียงกัน แต่ครำออกเสียงสั้นกว่า คือ คราม

          ผู้เขียนเคยนำเสนอเรื่องของครามไปแล้วในคอลัมน์องค์ความรู้ภาษาไทยฯ ฉบับวันพุธที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยกล่าวเฉพาะเรื่องชนิดและลักษณะทางพฤกษศาสตร์ไว้เท่านั้น แต่ในฉบับนี้จะกล่าวถึงสรรพคุณของครามว่า นอกจากจะใช้ใบและต้นมาทำสีน้ำเงินใช้ย้อมผ้ากันมาแต่โบราณแล้ว ครามชนิด Strobilanthes cusia  (Nees) Kuntze ยังมีประโยชน์เป็นสมุนไพรได้อีกด้วย โดยแพทย์พื้นบ้านไทยใช้รากและใบต้มน้ำดื่ม แก้อาการเจ็บป่วยหลายอย่าง เช่น อาการไข้ ปวดศีรษะเนื่องจากหวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ตาอักเสบ แพทย์ญี่ปุ่นในเกาะโอกินาวาใช้ใบต้มน้ำดื่มสำหรับรักษาโรคกลากเนื่องจากมีสาร tryptanthrin สามารถฆ่าเชื้อรา ๒ ชนิด คือ Trichophyton rubrum  และ Trichophyton mentagrophytes  ส่วนแพทย์จีนได้ทดลองให้คนไข้โรคเอดส์ที่เป็นงูสวัด ดื่มน้ำต้มใบแห้งของครามผสมกับพืชอื่นอีก ๓ ชนิดคือ Coptis chinensis  Franch. Arnebia euchroma  (Royle) I. M. Johnst. และ Paeonia moutan  Sims พบว่าแผลหายภายใน ๒ สัปดาห์.

อารี พลดี