คลองที่ขุดขึ้น

คลอง หมายถึงทางน้ำที่เกิดขึ้นเองหรือขุดขึ้นเพื่อเชื่อมกับแม่น้ำหรือทะเล  ตัวอย่างคลองที่ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมกับแม่น้ำและเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยมีอยู่หลายคลอง  เช่น คลองแสนแสบ คลองมหาสวัสดิ์ คลองเปรมประชากร คลองพระโขนง คลองมหานาค คลองหลอด คลองบางกอกน้อย คลองชลประทาน คลองภาษีเจริญ คลองรังสิตประยูรศักดิ์

ในส่วนของคลองที่เกิดจากการขุดขึ้นเหล่านี้ แต่ละคลองมีความเป็นมาที่น่าสนใจต่างกันไป ดังที่หนังสือรู้ รัก ภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ เช่น คลองภาษีเจริญ เป็นคลองที่เชื่อมต่อระหว่างคลองบางกอกใหญ่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า คลองบางหลวง กับแม่น้ำท่าจีน  คลองภาษีเจริญมีความยาว ๖๒๐ เส้น หรือประมาณ ๒๕ กิโลเมตร  ชื่อคลองภาษีเจริญมาจากชื่อผู้ริเริ่มขุด  คือ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม)  ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานเก็บภาษีฝิ่น  เจ้าของกิจการเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ และเจ้าของโรงน้ำตาลบ้านดอนไก่ดี แขวงเมืองสมุทรสาคร  ด้วยเหตุที่การขนส่งอ้อยสู่โรงงานยากลำบาก  พระภาษีสมบัติบริบูรณ์จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองจากบ้านดอนไก่ดีมาออกคลองบางกอกใหญ่  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หักเงินภาษีฝิ่นในส่วนที่พระภาษีสมบัติบริบูรณ์จะต้องส่งให้แก่รัฐบาล พระราชทานไปเป็นค่าจ้างขุดคลอง อีกทั้งพระราชทานชื่อคลองว่า คลองภาษีเจริญ

คลองรังสิต มีชื่อเต็มว่า คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ชื่อนี้ได้จากพระนามของพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ ธิดาของพระ
วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์  คลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีความยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร เริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำนครนายก  บริษัทที่ดำเนินการขุดคือ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม  ซึ่งมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น  เมื่อถึงฤกษ์ขุดดิน พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ได้เป็นผู้จรดพลั่วลงดินเป็นปฐมฤกษ์   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานชื่อว่า คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙.

กนกวรรณ  ทองตะโก