ความขัดแย้งในใจ

          เวลาที่เกิดความรู้สึกขัดแย้งขึ้นในใจ ถ้าลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ความขัดแย้งนั้นบางครั้งเกิดจากการตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกสิ่งไหนดี บางครั้งเกิดจากความจำเป็นบังคับให้ต้องเลือก ซึ่งลักษณะของความขัดแย้งเช่นนี้ เป็นเรื่องที่อธิบายได้ในทางจิตวิทยา

          พจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (กำลังจัดพิมพ์เผยแพร่) ซึ่งมี ดร.โสภา  ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ อุปนายกราชบัณฑิตยสถาน เป็นประธานในการจัดทำ อธิบายว่า ความขัดแย้งในใจ (conflict) เป็นการต่อสู้กันทางอารมณ์หรือพลังแรงจูงใจซึ่งได้แก่ แรงกระตุ้น แรงขับ ความปรารถนา ในทางจิตวิทยาแบ่งความขัดแย้งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในใจของบุคคล (intrapersonal conflict) ในระดับพื้นฐานมี ๓ ประเภท ดังนี้  (๑) ความขัดแย้งในใจแบบต้องการทั้งสองสิ่งในเวลาเดียวกัน (approach-approach conflict) แต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความขัดแย้งในใจแบบรักพี่เสียดายน้อง  (๒) ความขัดแย้งในใจแบบไม่ต้องการทั้งสองสิ่งในเวลาเดียวกัน (avoidance-avoidance conflict) แต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความขัดแย้งในใจแบบหนีเสือปะจระเข้  (๓) ความขัดแย้งในใจแบบที่ต้องการและไม่ต้องการในสิ่งเดียวกัน (approach-avoidance conflict) แต่ต้องเลือกสิ่งนั้น  ๒. ความขัดแย้งระหว่างบุคคล (interpersonal conflict) คือ การที่บุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปมีเป้าหมายที่สวนทางกัน แตกต่างกัน เห็นไม่ตรงกันทั้งค่านิยมและเจตคติ  ๓. ในทางจิตวิทยาการทหาร หมายถึง ความขัดแย้งของประชาชนที่จะนำไปสู่การก่อความไม่สงบ แบ่งเป็น ๓ ระดับ ดังนี้  (๑) ความขัดแย้งระดับต่ำ (low intensity conflict) เป็นความรุนแรงอยู่ในระดับการก่อการร้าย จนถึงการก่อความไม่สงบ แต่ความรุนแรงยังไม่ถึงขั้นของสงคราม  (๒) ความขัดแย้งระดับปานกลาง (middle intensity conflict) เป็นระดับความรุนแรงอยู่ในระดับการเกิดสงครามตามแบบขนาดเล็กถึงสงครามตามแบบขนาดใหญ่  (๓) ความขัดแย้งระดับสูง (high intensity conflict) เป็นความรุนแรงของสถานการณ์รุนแรงจนถึงขั้นสงครามนิวเคลียร์

แสงจันทร์  แสนสุภา