ความต่างของคำ

          กระดานสนทนาในเว็บไซต์ legacy.orst.go.th และในไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ripub@royin.go.th มีผู้ตั้งคำถามเข้ามาสอบถามยังราชบัณฑิตยสถานอยู่เสมอ ๆ ขอยกตัวอย่างของคำถามที่ถามถึงความแตกต่างระหว่างคำ ซึ่งหลายท่านยังสับสนว่าอะไรคือความถูกต้อง ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า หากเป็นตัวท่านเองแล้ว ท่านมีความเข้าใจความต่างของคำเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด ความหมายของคำเหล่านี้มีในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

          สาราณียกร บรรณาธิการ

          สาราณียกร หมายถึง ตําแหน่งเจ้าหน้าที่ของสมาคมหรือสถาบันการศึกษาเป็นต้น ทําหน้าที่อย่างบรรณาธิการ

          บรรณาธิการ หมายถึง ผู้จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์

          พิการ ทุพพลภาพ ทุรพล

          พิการ หมายถึง เสียอวัยวะมีแขนขาเป็นต้น เสียไปจากสภาพเดิม เช่น แขนพิการ ตาพิการ บางทีใช้เข้าคู่กับคำ พิกล เป็น พิกลพิการ

          ทุพพลภาพ หมายถึง หย่อนกําลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปรกติได้

          ทุรพล หมายถึง มีกําลังน้อย อ่อนแอ ท้อแท้ ใช้เป็น ทุพพล ก็ได้

          ราช ราชย์

          ราช ความหมายแรก หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์ คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา ความหมายที่ ๒ หมายถึง สมณศักดิ์พระราชาคณะ สูงกว่าชั้นสามัญตํ่ากว่าชั้นเทพ เรียกว่าชั้นราช เช่น พระราชสุธี พระราชโมลี

          ราชย์ หมายถึง ความเป็นพระราชา ราชสมบัติ เช่น ขึ้นครองราชย์ เสวยราชย์

          ต่อไปเมื่อพบคำเหล่านี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านสามารถแยกความต่างได้อย่างถูกต้อง

         สำรวย นักการเรียน