ความภูมิใจในตนเอง

          คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ความภูมิใจในตนเอง (self esteem) หมายถึง ระดับของเจตคติในการยอมรับตน การประเมินตนว่ามีคุณค่า มีความนับถือตนเอง มีความมั่นใจในตนเอง มีศักดิ์ศรีสูงหรือต่ำมากน้อยเพียงใด

          ผู้มีความภูมิใจในตนเองสูง (high self esteem) เป็นผู้มีความรู้สึกนึกคิดต่อตนเองด้านบวก ว่าตนมีความสามารถ รู้สึกว่ามีค่า มีความเข้มแข็ง รู้สึกว่าประสบความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หน้าที่การงาน รู้สึกว่าตนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยความสามารถของตน เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระ มีศักดิ์ศรี ทำในสิ่งที่ตนต้องการได้ ได้รับการยอมรับจากบุคคลแวดล้อม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ในขณะที่ผู้มีความภูมิใจในตนเองต่ำ (low self esteem) เป็นผู้มีความรู้สึกนึกคิดต่อตนเองด้านลบ รู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ช่วยตนเองไม่ได้ ประสบความล้มเหลวในสิ่งที่ทำ รู้สึกอ้างว้าง ตำหนิตนเอง รู้สึกว่าเป็นรองผู้อื่น ไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่น ผู้มีความภูมิใจในตนเองต่ำจะเกิดความรู้สึกท้อแท้ว่าชีวิตนี้มืดมน ไม่มีความสุข ชีวิตเต็มไปด้วยความสับสน หมดกำลังใจในการเรียนหรือการทำงาน ไม่กล้าเผชิญปัญหา ปฏิเสธความจริง ทำอะไรผิดพลาดบ่อย ๆ เป็นคนยอมแพ้ง่าย รู้สึกหดหู่ พลังในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง

          การอบรมเลี้ยงดูเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในตนเอง การที่พ่อแม่ผู้ปกครองและครูให้การยอมรับ ให้ความอบอุ่นแก่เด็กและส่งเสริมให้กำลังใจเด็กประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ เป็นการสร้างความภูมิใจในตนเองแก่เด็ก เป็นแรงจูงใจให้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่น ขยันขันแข็ง และเป็นการช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ผู้ใหญ่ควรป้องกันไม่ให้เด็กประสบความล้มเหลวบ่อย ๆ เพราะจะทำให้เกิดปมด้อย เกิดความท้อแท้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรตั้งความคาดหวังไว้ให้พอดีกับความสามารถของเด็กเพื่อให้เขาสามารถทำได้ ซึ่งจะเกิดความภูมิใจในตนเอง ทำให้เห็นคุณค่าแห่งตน ซึ่งเป็นรากฐานของสุขภาพจิตที่ดี และส่งเสริมให้เด็กประเมินตนเองอยู่เสมอเพื่อให้เกิดความภูมิใจในตนเองในระดับที่เป็นจริง.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก