ความมั่งคั่ง

          เรื่องของความยากจนได้เคยเสนอไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้  วันนี้เรามารู้จักความมั่งคั่งกันบ้าง ใครที่เคยอ่านหนังสือของ แอดัม สมิท (Adam Smith) เรื่อง An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า  The Wealth of Nations   ก็คงจะทราบว่า ในสมัยนั้นมีการพูดถึงความมั่งคั่งกันแล้ว และแสวงหาวิธีต่าง ๆ นานา ว่าทำอย่างไร ประเทศจึงจะมีความมั่งคั่ง ทำให้เกิดเป็นแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขึ้น ความมั่งคั่งมีความสำคัญและน่าสนใจอย่างไร วันนี้เรามาทำความรู้จักกันค่ะ

          พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  อธิบายว่า wealth  หรือ ความมั่งคั่ง  หมายถึง ปริมาณและมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นของหน่วยเศรษฐกิจซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับประเทศหรือสังคม  ความมั่งคั่งสามารถวัดได้จากมูลค่าโดยรวมของทรัพย์สินเหล่านั้น อาจอยู่ในรูปของทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร หุ้น พันธบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา บ้าน ที่ดิน เครื่องจักร  

          ส่วน ผลกระทบจากความมั่งคั่ง หรือ  wealth effect  หมายถึง  ผลของการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินที่ปัจเจกบุคคลถือครองอยู่  ซึ่งปผมีผลต่อการใช้จ่ายและการออมของบุคคลนั้น อันเนื่องจากการที่ราคาทรัพย์สินหรือราคาสินค้าโดยทั่วไปเปลี่ยนแปลง ทำให้มูลค่าของความมั่งคั่งของบุคคลเปลี่ยนแปลง และจะทำให้บุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายหรือการออม ซึ่งอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น สมมุติว่า บุคคล ๒ คนมีรายได้จากการทำงานเท่ากัน คนที่มีทรัพย์สินมากกว่ามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในการบริโภคหรือการออมจากรายได้ที่มีอยู่มากกว่าบุคคลซึ่งมีทรัพย์สินน้อยกว่าหรือมีรายได้แต่เพียงอย่างเดียว    

          และเมื่อมีความมั่งคั่งแล้ว ตามประสาพลเมืองที่ดี (อย่างน้อยก็ตามทฤษฎี) จึงต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ ซึ่งเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากความมั่งคั่งของบุคคล ตามมูลค่าของทรัพย์สินที่บุคคลถือครองไว้ หรือที่เรียกว่า ภาษีที่เก็บตามความมั่งคั่ง(wealth tax) นั่นเอง  

          จินดารัตน์  โพธิ์นอก