ความเสมอภาค

          คนเรามักจะเรียกร้องความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันอยู่เสมอและมักพิจารณาจากแง่ของตนเอง คือเอาตัวเองหรือผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก จึงมักจะเห็นแต่ความเสียเปรียบของตัวเอง ถ้าเมื่อไรตัวเป็นฝ่ายได้เปรียบก็มักจะมองเห็นเหตุผลต่าง ๆ นานาว่าที่เป็นเช่นนั้นเป็นความเสมอภาคแล้วหรือเป็นความยุติธรรมดีแล้ว ความเสมอภาคจึงเป็นเรื่องที่คนเราเห็นไม่ตรงกัน เช่น คนในฝ่ายเกษตรก็มักอ้างว่ารัฐบาลไม่ให้ความเสมอภาคกับฝ่ายอุตสาหกรรมเพราะดูแลฝ่ายอุตสาหกรรมมากกว่า เงินทองที่สนับสนุนก็มากกว่า ฝ่ายอุตสาหกรรมก็อ้างว่ารัฐบาลได้ให้ความเท่าเทียมกันแล้ว เพราะฝ่ายอุตสาหกรรมทำเงินให้รัฐมากกว่าจึงควรได้รับความดูแลสนับสนุนมากกว่า หากให้เท่าฝ่ายเกษตรก็เป็นการไม่เท่าเทียมกัน หรือไม่ยุติธรรม เรื่องความเท่าเทียมกันนี้เราอาจพิจารณาได้หลายแง่

       ความเท่ากัน กับ ความเท่าเทียมกัน

          เมื่อพูดถึงความเท่าเทียมกัน สิ่งแรกที่คนเรามักนึกถึงก็คือความเท่ากันอย่างจำนวนเลข หรือรูปทรงเรขาคณิต เช่น เมื่อพูดว่ารูปสามเหลี่ยม ๒ รูปมีพื้นที่เท่ากัน แปลว่า ถ้ารูปหนึ่งมีพื้นที่ ๖ ตารางนิ้วอีกรูปหนึ่งก็ต้อง ๖ ตารางนิ้ว และถ้าเท่ากันทั้งด้านและมุมด้วยก็เรียกว่า เท่ากันทุกประการ 

          คนเรามักนึกว่าความเท่าเทียมกันคือเท่ากันทุกประการ เช่น ถ้าพ่อรักลูกเท่ากัน เมื่อให้เงินคนหนึ่ง ๒ บาทก็ต้องให้อีกคนหนึ่ง ๒ บาท จะต้องปฏิบัติต่อลูกทุกคนเหมือนกันหมด เช่น เรียนหนังสือก็ต้องโรงเรียนเดียวกัน

          ความเท่ากันที่พิจารณาในแง่ปริมาณหรือแง่จำนวนนี้ มีผู้เห็นว่าไม่ถูกต้อง  เพราะความเท่ากันเช่นนั้นกลายเป็นความไม่เท่ากัน เช่น ถ้าพ่อให้ลูกสองคนกินอาหารเท่ากันคนหนึ่งอาจอิ่มแต่อีกคนหนึ่งไม่อิ่ม คือได้ความอิ่มไม่เท่ากัน ถ้าจะให้อิ่มเท่ากันต้องให้กินไม่เท่ากัน 

          หรือถ้าคนหนึ่งทำงานมากกว่าอีกคนหนึ่งก็ต้องได้รับส่วนแบ่งมากกว่า ถ้าให้เท่ากันก็เป็นความไม่เท่ากัน  ความเท่ากันอย่างแรกแทบจะไม่มีความหมายอะไรเพราะเป็นแต่อุดมคติ เนื่องจากคนไม่ได้เท่าเทียมกันหรือเหมือนกันทุกประการ ถ้าจะให้เกิดความเท่าในความต่างนี้ก็ต้องพิจารณาในแง่สัดส่วน เราอาจเรียกความเท่าแบบแรกว่า ความเท่ากันตามตัวเลข (numerical equality) และความเท่าแบบหลังว่า ความเท่ากันแบบสัดส่วน (proportional equality) หรือเราอาจเรียกความเท่าแบบหลังว่า ความเท่าเทียมกัน

          นอกจากความไม่เท่าเทียมกันในเชิงปริมาณ คือทำสิ่งเดียวกันในปริมาณไม่เท่ากัน ควรได้รับผลต่างกันแล้ว เมื่อเราพิจารณาแง่คุณสมบัติหรือคุณภาพ ความไม่เท่าเทียมกันยังมีอีกแง่หนึ่งคือ ความไม่เหมือนกัน การปฏิบัติต่อสิ่งที่เหมือนกันอย่างเดียวกันนับเป็นการให้ความเท่าเทียมกัน แต่การปฏิบัติต่อสิ่งที่ต่างกันอย่างเดียวกันอาจจะไม่เป็นความเท่าเทียมกัน เช่น ถ้าพ่อให้ตุ๊กตาชนิดเดียวกันแก่ลูกสาวและลูกชายอาจจะไม่เท่าเทียมกัน แต่ถ้าพ่อให้ตุ๊กตาหุ่นยนต์แก่ลูกชายและให้ตุ๊กตาบาร์บีแก่ลูกสาวอาจเป็นความเท่าเทียมกัน แม้ราคาอาจจะต่างกันบ้างเล็กน้อย

          เรื่องคุณสมบัติที่ต่างกันนี้ถ้าเราพิจารณาลงไปในรายละเอียดก็จะมีที่ต่างที่อาจนำมาพิจารณาในแง่การให้ความเท่าเทียมกันได้อีกมาก  ความเท่าเทียมกันในความต่างทางคุณสมบัตินี้ก็ต้องมีหลักในการพิจารณา ซึ่งมิใช่เฉพาะโดยสัดส่วนเชิงปริมาณแต่เพียงอย่างเดียว

        ความเท่าเทียมกันต้องมีเกณฑ์ตัดสิน

          การปฏิบัติต่อคนสองคนอย่างไม่เท่าเทียมกันจะต้องมีเหตุผลหรือเกณฑ์ตัดสินที่ทำให้การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้จะกลายเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทันที เช่น การให้ตำราแก่คนที่เรียนหนังสือแทนที่จะให้แก่คนรูปหล่อย่อมเป็นการให้ที่มีเหตุผล เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความหล่อทำให้อ่านตำราได้ดีกว่าความมีการศึกษา

          การปฏิบัติเช่นนี้แม้มีเหตุผล แต่ก็เกิดปัญหา คือจะต้องยอมรับความไม่เท่ากันของคนในบางเรื่อง และถ้าเป็นเช่นนี้หากเราไม่สามารถหาความเท่ากันได้เลยสักเรื่องเดียว คำพูดที่ว่าทุกคนเท่ากันก็ไม่มีความหมาย หรือ “ทุกคนเท่ากัน” จะมีความหมายว่า “ทุกคนเท่าเทียมกัน”

          ความไม่เท่ากันถ้าเป็นเรื่องธรรมชาติก็อาจรับได้ง่าย เช่น ตัวสูง ตัวเตี้ย สวย ไม่สวย ขาว ดำ แต่ก็ยังมีปัญหาว่าความไม่เท่ากันเช่นนี้เป็นเหตุผลให้ปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ไม่เท่ากันด้วยหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีความไม่เท่ากันทางสังคม เช่น รวย จน การศึกษาสูง การศึกษาต่ำ เหล่านี้ควรจะต้องให้เท่ากัน เพื่อจะปฏิบัติต่อทุกคนเท่ากัน หรือว่าจำเป็นต้องต่างกันแล้วปฏิบัติต่อคนที่ต่างกันไม่เหมือนกันเพื่อจะให้เกิดความเท่าเทียมกัน

          การยอมรับความไม่เท่ากันซึ่งทำให้เกิดการปฏิบัติต่างกันนี้ทำให้เกิดเอกสิทธิ์ (privilege) ขึ้นได้ เพราะการยอมรับหลักการที่ว่า “ต้องปฏิบัติต่อทุกคนเท่ากันเว้นแต่มีเหตุผลพอ” เมื่อถามว่า “เหตุผลอะไรเป็นเหตุผลพอ” ก็อาจตอบว่า คือลักษณะต่างที่เป็นอยู่ “เหตุผลพอ” ก็จะกลายเป็นเหตุผลของคนอ้าง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่รับว่าเป็น “เหตุผลพอ” ก็ได้

          หลักการดังกล่าวนั้นแม้เราจะยอมรับก็จะมีปัญหาอีก คือหลักนั้นเป็นแต่รูปแบบ เช่นเดียวกับฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ ไม่มีเนื้อหา คือไม่บอกว่าอะไรบ้างที่เป็นเหตุผลซึ่งจะใช้อ้าง และใช้อ้างแก่ใคร เช่น สำหรับพวกพุทธิปัญญานิยม (intellectualism) อาจเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ดีที่จะให้คนที่ใช้ปัญญามีเวลาว่างและได้ค่าตอบแทนสูงมากกว่าคนที่ใช้กำลัง แต่พวกมาร์กซิสต์คงไม่เห็นด้วยว่า เป็นเหตุผลที่เพียงพอ 

          ในอดีตมนุษย์เราได้อ้างสิ่งหลายสิ่งที่เป็นเหตุผลในการรับสิทธิพิเศษ เช่น วรรณะ ตระกูล ฐานะทางเศรษฐกิจ และอีกฝ่ายหนึ่งถูกห้ามมิให้มีสิทธิ เช่น ศูทรไม่มีสิทธิเรียนพระเวท ทาสไม่มีสิทธิฟ้องคดี คนจนไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

          เมื่อพิจารณาในทางตรงข้าม การให้ทุกคนมีสิทธิเท่ากันทุกเรื่อง ซึ่งดูเหมือนเป็นอุดมคติของความเท่ากัน ก็อาจทำให้เกิดอนาธิปไตยขึ้นได้ เช่น คนมีการศึกษากับไม่มีการศึกษามีสิทธิสอนในมหาวิทยาลัยเท่ากัน คนสามารถเกี้ยวพาราสีกันได้โดยไม่ต้องดูว่าใครแต่งงานแล้วหรือยังโสดอยู่ คนขับรถปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับพวกขี้เมาคือ ดื่มเหล้าตลอดเวลา

       ความเท่ากันในเรื่องโอกาส

          ความไม่เท่ากันซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เท่ากันอาจจะดูยุติธรรม แต่หลักการนี้จะเป็นหลักการที่ไม่ยุติธรรมถ้าหากความไม่เท่ากันนั้นเกิดจากความมีโอกาสไม่เท่ากัน เช่น ถ้าคนที่มีสมรรถภาพพอ ๆ กัน ได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างเดียวกัน โอกาสที่จะมีลักษณะต่าง ๆ เหมือน ๆ กันก็มาก แต่ความไม่เท่ากันอาจเกิดจากโอกาสที่ไม่เท่ากัน เช่น คนที่ฉลาดมาก แต่ครอบครัวยากจนมาก ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ก็อาจได้รับการพิจารณาอย่างเดียวกับคนที่โง่โดยธรรมชาติ เพราะในที่สุดเขาจะตกไปอยู่ในกลุ่มนั้น ส่วนคนที่ฉลาดไม่มาก ได้รับการศึกษาดี มีโอกาสได้เรียนกับครูดี มีตำราดี มีเวลาว่างที่จะใช้อ่านหนังสือมาก ครอบครัวอยู่ในสังคมที่มีคนฐานะสูง และเป็นที่รู้จักของสังคม คนผู้นี้จะกลายเป็นคนที่ได้รับการปฏิบัติดีกว่าคนแรกเพราะโอกาสดีกว่า

          ปัญหาก็คือไม่มีสังคมใดเลยที่คนมีโอกาสเท่ากัน แม้แต่โอกาสในธรรมชาติก็ยังไม่เท่ากัน เช่น ถ้าต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ที่หนึ่ง ต้นอื่นก็ขึ้นตรงนั้นไม่ได้ สังคมก็เช่นกัน ถ้าคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี คนอื่น ๆ ก็เป็นไม่ได้ แม้จะเลี้ยงดูและให้การศึกษาเหมือนกันก็คงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าจะพูดว่ามีโอกาสในแง่ทฤษฎีก็คงเป็นโอกาสที่ไม่มีความหมายเพราะไม่เป็นจริงในการปฏิบัติ  ยิ่งกว่านั้นเมื่ออยู่ในสังคมบางคนมีโอกาสเป็นผู้จัดการชีวิตผู้อื่น แต่บางคนอาจเป็นผู้ถูกจัดการแทบจะทุกเรื่อง ถ้าความเท่าเทียมกันเป็นไปไม่ได้และไม่เกิดขึ้นจริงเช่นนี้ ความเท่ากันหรือแม้แต่ความเท่าเทียมกันจะกลายเป็นเพียงความเพ้อฝันของคนเราหรือไม่

        โอกาสซึ่งไม่มีทางเลือกกับโอกาสที่จะเลือก

          ความพยายามที่จะให้โอกาสจะเกิดได้ก็ด้วยการเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูปสังคม ซึ่งหากจะให้เกิดความเท่าเทียมกันทางโอกาสอย่างสมบูรณ์อาจต้องทำตามข้อเสนอของเพลโต คือ รัฐจัดการในเรื่องโอกาสทั้งหมดตั้งแต่โอกาสที่จะเกิด โอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ โอกาสที่จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างเดียวกัน โอกาสที่จะได้รับการศึกษาเหมือนกันทุกประการ แต่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วความเหมาะที่ได้จะทำอะไรและได้รับอะไรก็จะต้องมาจากความสามารถของตน รัฐก็จะจัดให้ตามที่เห็นว่าสมควรแก่ความสามารถ จะเลือกเอาเองตามใจชอบไม่ได้ 

          ความเท่ากันหรือเท่าเทียมกันเช่นนี้จะนำไปสู่ความไร้เสรีภาพ คือ ต้องได้ตามที่ควร และต้องทำตามที่ถูกกำหนดโดยถือเป็นหน้าที่ ความยุติธรรมก็คือ การทำตามหน้าที่ ไม่ก้าวก่ายกัน ความเท่าเทียมกันชนิดนี้ยากที่จะให้เกิดขึ้นได้ หรือถึงเกิดขึ้นได้ก็ยากจะมีผู้ยอมรับ เพราะต้องสูญเสียเสรีภาพไป เว้นแต่คนที่ขาดโอกาสอยู่แล้วอาจเห็นดีด้วยเพราะได้โอกาสเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ถ้าจะให้เกิดความเท่าเทียมกันจริง ๆ ในยุคต่อ ๆ ไปอาจจะต้องมีการคัดพันธุ์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ด้านพันธุวิศวกรรม ซึ่งก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย พึงระลึกว่าความเท่ากันไม่ใช่คุณค่าชนิดเดียวที่มนุษย์ถือว่าดี

          คนสมัยนี้มิได้ต้องการความเหมือนกันทั้งหมด หรือเหมือนกันทุกประการ อาจจะต้องการเพียงให้เหมือนกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือมีความเท่าเทียมกันแต่ไม่ต้องเท่ากันทุกประการ คือแม้จะถือเอาความเท่ากันเป็นจุดหมาย แต่ก็รู้ว่าเข้าถึงไม่ได้ และก็ไม่ได้ถือว่าความไม่เท่ากันเป็นสิ่งไม่ดีจนยอมรับไม่ได้ เพียงแต่ต้องการขจัดความไม่เท่ากันที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอเท่านั้น ดังนั้น หากความเท่ากันทำให้ต้องเสียโอกาสในการเลือกไป มนุษย์ก็อาจไม่ต้องการโอกาสที่เท่ากันเช่นนั้น เพราะมนุษย์จะมีความเป็นตัวของตัวเองหรือเป็นอิสระอย่างแท้จริงก็ด้วยการที่ตนมีโอกาสเลือกที่จะคิดหรือทำ

       เพราะต้องยอมรับความไม่เท่ากัน หลักความเท่ากันจึงต้องมีอยู่

          หลักความเท่ากันแม้เป็นจุดหมายก็เป็นอุดมคติและปฏิบัติไม่ได้หรือในกรณีที่ปฏิบัติได้ก็อาจไม่เกิด และทุกหนทุกแห่งเราเห็นแต่ความไม่เท่ากัน แต่ถึงกระนั้นเราก็กำหนดหลักความเท่ากันในความไม่เท่ากันได้แม้จะมีปัญหาเรื่อง “เหตุผลเพียงพอ” ก็ตาม ถ้าเช่นนั้นเราไม่ต้องพูดถึงหลักความเท่ากันจะมิดีกว่าหรือ

          ยิ่งมีความไม่เท่ากันหลักความเท่ากันยิ่งจำเป็น มิใช่จำเป็นเพราะจะต้องให้ทุกสิ่งเท่ากันตามหลักนั้น แต่จำเป็นเพราะจะได้ทำให้ความไม่เท่ากันไม่เป็นไปตามอำเภอและไร้หลัก แต่จะยอมให้ความไม่เท่ากันเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้เฉพาะเมื่อมีเหตุผลเพียงพอ  ดังนั้น ใครที่จะทำอะไรที่ไม่มีความเท่ากันก็จำต้องหาเหตุผลมาอธิบายให้ได้ กรณีใดที่อธิบายไม่ได้หรืออธิบายได้ไม่ชัดเจนพอก็ต้องให้ความเท่ากัน หรือพยายามให้เกิดความเท่ากันให้มากที่สุด

          เหตุผลที่จะมาอธิบายความต่างก็ต้องเป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความต่างแล้วชี้ความต่างนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะทำให้ต้องปฏิบัติต่อบุคคลอย่างแตกต่างด้วย ต้องเป็นเหตุผลของเรื่องนั้นและปรากฏอยู่จริง ไม่ใช่เหตุผลที่อุปโลกน์ขึ้น เช่น การที่นาซีอ้างว่าอารยันเป็นพวกสร้างอารยธรรมและเซมิติกเป็นพวกทำลายอารยธรรม ตราบใดที่ยังโต้แย้งเหตุผลนั้นได้ ความไม่เท่ากันก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

       สิ่งที่น่าจะให้เท่าเทียมกันได้

          ในสังคมปัจจุบันคนเท่าเทียมกัน คือ มีความเท่ากันมากขึ้นในหลาย ๆ เรื่องและมีความพยายามที่จะทำให้ความต่างลดลง และแม้หลักความเท่ากันจะไม่มีเนื้อหา คือเป็นรูปแบบ (form) แต่ก็อาจจะลองพูดถึงเนื้อหาบางเรื่องที่น่าจะอยู่ในรูปแบบดังกล่าวได้ เช่น สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาหรือการคำนึงถึงจากรัฐเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการตัดอคติหรือความลำเอียงในการปฏิบัติของสังคมต่อบุคคลในสังคม เรื่องอื่น เช่น ความเท่าเทียมกันที่จะได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ข้อนี้แม้ไม่อาจขจัดความเท่าเทียมกันได้แม้เพียงในเรื่องการอุปโภคบริโภค แต่ก็เป็นการพูดถึงโอกาสที่จะเท่ากันในระดับหนึ่ง คืออย่างน้อยสังคมประกันว่าบุคคลในสังคมจะได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐานเท่ากันถึงระดับที่กำหนด 

          ความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ก็อาจพูดถึงได้ เช่น สิทธิในการเลือกตั้งซึ่งถือว่ามาจากสิทธิแห่งความมีเสรีภาพโดยธรรมชาติของมนุษย์ ความเท่าเทียมกันที่จะได้รับความนับถือจากทุกคนในฐานะที่เป็นคนก็เป็นสิ่งที่น่าจะคิดได้ กล่าวคือ คนอาจไม่ได้รับความยกย่องในฐานะเป็นคน คือไม่ถูกปฏิบัติอย่างสัตว์หรือวัตถุ เช่น ไม่กำหนดความแตกต่างว่าคนมีความเท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพของตนอย่างสมบูรณ์ แต่คนขาว คนดำ และคนผิวเหลืองแตกต่างกัน การพัฒนาตนอย่างสมบูรณ์จึงเหมือนกันหรือใช้วิธีเดียวกันไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

          เราอาจต้องการพัฒนาสังคมให้บุคคลเท่าเทียมกันในเรื่องต่าง ๆ ถึงระดับหนึ่ง แม้จะไม่ถือว่านั่นเป็นความเท่ากันก็ตาม ปัญหาของการพัฒนาจะอยู่ที่ต้องหาเหตุผลให้ชัดว่า ความไม่เท่ากันนั้นเป็นความไม่เท่ากันในเรื่องอะไรแน่ มีสาเหตุจากอะไร มีเหตุผลอะไรที่จะให้เกิดความเท่ากันในเรื่องนั้น และจะสามารถยกระดับให้พัฒนาไปสู่ความเท่ากันอย่างสมบูรณ์ได้ถึงระดับใด หากเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่ชัดเจนพอ เราก็อาจหลงประเด็นและแก้ปัญหาไม่ถูกจุดได้.

ผู้เขียน : ศ.ปรีชา ช้างขวัญยืน ราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาวิชาอัคฆวิทยา  สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๖๘ มกราคม ๒๕๔๐