คำมงคลในจีน

          คำมงคล หมายถึง คำที่ถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย คำมงคลในจีนมักเขียนด้วยสีทองบนกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง มี ๓ แบบ ดังนี้ 

          ๑. คำมงคลที่เป็นแผ่นกระดาษคู่อันเป็นประเภทหนึ่งของตุ้ยเหลียนซึ่งหมายถึงแถบคำมงคลคู่ หากนำมาปิดในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะเรียกว่า ชุนเหลียน เป็นกระดาษ ๒ แผ่น ปิดตามแนวตั้งเป็นคู่ ไว้ข้างซ้ายและข้างขวา โดยทั่วไปการอ่านคำจะอ่านแนวตั้งข้างขวาก่อน แล้วอ่านแนวตั้งข้างซ้าย แต่ละแผ่นมีจำนวนคำตั้งแต่ ๔ ตัวอักษรหรือมากกว่า ๔ ตัวอักษร ตุ้ยเหลียนที่มีจำนวนอักษรแผ่นละ ๔ ตัวอักษร เช่น เชียนเหมินต้าสี่ วั่นหู้เกาเกอ หมายถึงชาวบ้านทุกบ้านดีใจมาก ร้องเพลงเสียงดังไปทั่ว ชุนเทียนซ่งฝู สี่ชี่หลินเหมิน หมายถึงฤดูใบไม้ผลิส่งโชคดีนำบรรยากาศแห่งความชื่นชมยินดีมาสู่บ้าน ส่วนที่มีจำนวนตัวอักษรแผ่นละ ๖ ตัวอักษร เช่น ชุนไหลเหนี่ยวยฺหวี่ฮฺวาเซียง ตงชฺวี่ชานหมิงฉุ่ยซิ่ว หมายถึงเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลินกร้องดอกไม้ส่งกลิ่นหอม ฤดูหนาวผ่านไป (เห็น) ภูเขาชัดเจนและธารน้ำใส และที่มีจำนวนแผ่นละ ๗ ตัวอักษร เช่น ฮฺวานฮฺวานสีสี่อิ๋งจี๋เสียง เหอเหอชุ่นชุ่น (ชาวจีนทางใต้นิยมออกเสียงว่า ซุ่นซุ่น) เทียนเหมยหม่าน หมายถึงดีใจที่จะได้ต้อนรับสิ่งมงคล สันติภาพและความราบรื่นเติมชีวิตให้สมบูรณ์และมีความสุข คำมงคลว่า ชุนเฟิงชุนกวางชุนอี้เจิ้ง เหรินสี่เหรินเล่อเหริน (ชาวจีนทางใต้นิยมออกเสียงว่า เหยิน) จื้อเกา หมายถึงบรรยากาศฤดูใบไม้ผลิช่วงเทศกาลตรุษจีนทำให้ผู้คนมีความสุขและมีความก้าวหน้า

          ๒. คำมงคลที่เป็นแผ่นเดียว อาจปิดตามแนวนอนหรือแนวตั้ง มีจำนวนคำ ๔ ตัวอักษร เช่น ไคกงต้าจฺวี๋ หมายถึงเริ่มกิจการด้วยสิริมงคล จินยฺวี่หม่านถัง หมายถึงเงินทองไหลมาเทมาสู่บ้าน

          ๓. คำมงคลที่เป็นอักษรตัวเดียว เช่น ฝู หมายถึง ความเป็นสิริมงคล บางครั้งจะจงใจติดหัวกลับลงเพื่อให้เป็นคำว่า ฝูเต้าซึ่งหมายถึง ความสุขและสิริมงคลได้มาสู่บ้านแล้ว (คำกริยาว่า กลับหัวกลับหาง ในภาษาจีนออกเสียงว่า เต้าซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า เต้า ที่มีความหมายว่า ถึง มาถึง) ลู่ หมายถึงยศและทรัพย์ศฤงคาร โช่ว (ชาวจีนทางใต้นิยมออกเสียงว่า โซ่ว) หมายถึงอายุยืน

          ทั้งนี้ การทับศัพท์ภาษาจีนกลางใช้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาจีนของราชบัณฑิตยสถาน


ลัดดา วรลัคนากุล