คำเรียกชื่อแหล่งน้ำ

          คำเรียกชื่อแหล่งน้ำในภาษาไทยมีหลายคำ มีทั้งแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น คู คลอง หนอง บึง ห้วย ลำธาร ลำห้วย ธาร คำเหล่านี้มีความหมายทั่วไปตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนี้

          คู หมายถึง ร่องนํ้าที่ขุดขึ้นเพื่อชักน้ำหรือเก็บนํ้าไว้ใช้ หรือหมายถึงร่องน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องกีดขวางป้องกันนอกกำแพงเมือง คลอง หมายถึง ทางนํ้าหรือลํานํ้าที่เกิดขึ้นเองหรือขุดเชื่อมกับแม่นํ้าหรือทะเล หนอง หมายถึง แอ่งนํ้า บึง หมายถึง แหล่งนํ้าขนาดใหญ่ มีนํ้าขังตลอดปี ห้วย หมายถึง แอ่งน้ำลึกกว้างมีทางน้ำไหลจากภูเขามาขังอยู่ตลอดปี หรือแห้งบ้างเป็นบางคราว ลำธาร หมายถึง ทางนํ้าที่ไหลจากเขา ลำห้วย หมายถึง ทางน้ำไหลจากภูเขามาขังอยู่ในแอ่งที่เรียกว่าห้วย ธาร หมายถึง นํ้า ลําธาร ห้วย หยาดนํ้า ท่อนํ้า

          ในทางธรณีวิทยา นำคำเรียกชื่อแหล่งน้ำบางคำมาใช้เป็นศัพท์บัญญัติและมีความหมายเฉพาะที่ต่างจากความหมายในพจนานุกรมฯ เช่น ลำธาร เป็นศัพท์บัญญัติของคำในภาษาอังกฤษว่า creek หมายถึง ธารน้ำใด ๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่าลำห้วยแต่เล็กกว่าแม่น้ำ ลำห้วย เป็นศัพท์บัญญัติของคำในภาษาอังกฤษว่า brook หมายถึง ธารน้ำสายสั้น ๆ ปริมาณน้ำน้อยกว่าลำธาร ธาร เป็นศัพท์บัญญัติของคำในภาษาอังกฤษว่า stream หมายถึง น้ำซึ่งได้เคลื่อนตัวไปตามอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงจากที่สูงลงมายังที่ต่ำกว่า โดยไหลไปตามร่องแคบ ๆ บนผิวพื้นดิน ถ้ำใต้ดิน ใต้หรือในธารน้ำแข็ง เป็นส่วนผสมของน้ำกับสารที่ละลายมา แขวนลอยมา หรือล่องลอยตามกันมา นอกจากนี้ยังมีคำ ลำน้ำ ที่บัญญัติใช้กับศัพท์ channel ซึ่งมีความหมายหนึ่งว่า ส่วนที่ลึกที่สุดของลำธาร อ่าว หรือช่องแคบ.

อารี พลดี