งา

          คำว่า งา เป็นคำนาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้หลายอย่าง เช่น ฟันตัดแถวบนที่งอกออกจากปากช้าง ลักษณนามเรียกว่ากิ่ง หรือหมายถึง ส่วนหนึ่งของเครื่องดักสัตว์เช่นลอบหรือไซ ทําเป็นซี่ ปลายสอบเข้าหากันเพื่อไม่ให้ปลาที่เข้าไปแล้วออกมาได้ หรือหมายถึง ชื่อปลานํ้ากร่อยหรือปลาทะเลขนาดเล็กชนิด Thryssa setirostris ในวงศ์ Engraulidae ที่กระดูกขากรรไกรบนโค้งยื่นยาวเป็นเส้นจดครีบท้องหรือครีบก้น ลําตัวยาว แบนข้าง ปากกว้าง เกล็ดที่สันท้องเป็นเหลี่ยมคมเรียงต่อกันคล้ายฟันเลื่อย พื้นลําตัวสีเงินอมเหลืองส้ม

          ในทางพฤกษศาสตร์ งา หมายถึงชื่อไม้ล้มลุกชนิด Sesamum orientale  L. ในวงศ์ Pedaliaceae ผลเป็นฝัก มีเมล็ดเล็กๆ สีขาวหรือดํา ใช้ประกอบอาหารหรือสกัดนํ้ามัน หลายคนอาจเข้าใจว่างาเป็นพรรณไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยตามธรรมชาติ แต่ความจริงแล้วงาเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา มีการนำไปปลูกเพื่อใช้เมล็ดเป็นอาหารในสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปเอเชียทั่วไป ประเทศไทยนำงาเข้ามาปลูกทั่วทุกภาค นอกจากงาจะมีประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว น้ำมันงายังเป็นตัวทำละลายของสารที่สกัดได้จากดอกไพเรทรัม (pyrethrum) เพื่อทำยาฆ่าแมลง คณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช ราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในคำ งา ว่า ในเมล็ดงามีน้ำมันร้อยละ ๔๕-๕๕ ประกอบด้วยกรดไขมัน และสารเซซามอล (sesamol) และดี-เซซามิน (d-sesamin) โดยสารทั้ง ๒ ชนิดนี้มีสมบัติในการเสริมฤทธิ์ของ ไพรีทริน (pyrethrin) ซึ่งเป็นสารที่พบในดอกไพเรทรัม ทำให้มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงดีขึ้นเป็น ๒ เท่า จึงมีการนำน้ำมันงาไปเป็นตัวทำละลายในการสกัดสารไพเรทริน.

อารี พลดี